• ลก 14:1, 7-14 •
1วันสับบาโตวันหนึ่ง พระเยซูเจ้าเสด็จไปเสวยพระกระยาหารที่บ้านของหัวหน้าชาวฟาริสีผู้หนึ่ง ผู้ที่อยู่ที่นั่นต่างจ้องมอง
7พระเยซูเจ้าทรงสังเกตเห็นผู้รับเชิญต่างเลือกที่นั่งที่มีเกียรติ จึงตรัสเป็นอุปมากับเขาว่า 8“เมื่อมีใครเชิญท่านไปในงานมงคลสมรส อย่าไปนั่งในที่ที่มีเกียรติ เพราะถ้ามีคนสำคัญกว่าท่านได้รับเชิญมาด้วย 9เจ้าภาพที่เชิญท่านและเชิญเขา จะมาบอกท่านว่า ‘จงให้ที่นั่งแก่ผู้นี้เถิด’ แล้วท่านจะต้องอับอายไปนั่งที่สุดท้าย 10แต่เมื่อท่านได้รับเชิญ จงไปนั่งในที่สุดท้ายเถิด เพื่อเจ้าภาพที่เชิญท่านจะมาบอกท่านว่า ‘เพื่อนเอ๋ย จงไปนั่งในที่ที่ดีกว่านี้เถิด’ แล้วท่านจะได้รับเกียรติต่อหน้าผู้ร่วมโต๊ะทั้งหลาย 11เพราะทุกคนที่ยกตนขึ้นจะถูกกดให้ต่ำลง แต่ทุกคนที่ถ่อมตนลงจะได้รับการยกย่องให้สูงขึ้น”
12พระองค์ตรัสกับผู้ที่เชิญพระองค์ว่า “เมื่อท่านจัดเลี้ยงอาหารกลางวันหรืออาหารค่ำ อย่าเชิญมิตรสหาย พี่น้องหรือเพื่อนบ้านที่มั่งมี เพราะเขาจะเชิญท่านและท่านจะได้รับการตอบแทน 13แต่เมื่อท่านจัดงานเลี้ยง จงเชิญคนยากจน คนพิการ คนง่อย คนตาบอด 14แล้วท่านจะเป็นสุข เพราะคนเหล่านั้นไม่มีสิ่งใดตอบแทนท่านได้ ท่านจะได้รับการตอบแทนจากพระเจ้าเมื่อผู้ชอบธรรมกลับคืนชีวิต”
พระเยซูเจ้าเสด็จไปเสวยพระกระยาหารที่บ้านของหัวหน้าฟาริสี และทรงรักษาชายคนหนึ่งซึ่งป่วยเป็นโรคท้องบวมต่อหน้าเจ้าภาพและแขกรับเชิญอีกมาก (ลก 14:1-6)
บังเอิญวันนั้นเป็นวันสับบาโต !
นับเป็นครั้งที่เจ็ดแล้วที่พระองค์ทรงรักษาคนเจ็บป่วยในวันสับบาโต (มก 1:21; ยน 5:9; 9:14; ลก 4:38; 6:6; 13:13; 14:4)
ลำพังการรักษาคนเจ็บป่วยซึ่งถือเป็นการ “ทำงาน” และเป็นสิ่งต้องห้ามในวันสับบาโตก็หนักหนาอยู่แล้ว แต่พระองค์ยังทรงท้าทายพวกฟาริสีและนักกฎหมายด้วยคำถามที่ว่า “ถ้าผู้ใดมีบุตรหรือมีโคตกลงไปในบ่อ จะไม่รีบฉุดขึ้นมาทันทีแม้เป็นวันสับบาโตหรือ” จนพวกเขานิ่งอึ้งตอบไม่ได้ด้วยแล้ว (ลก 14:5) ความเป็นศัตรูระหว่างพระองค์กับพวกเขาก็ปรากฏชัดแจ้งทันที !
ในสายตาของพวกฟาริสีและนักกฎหมาย พระองค์คือคน “แหกกฎ” ที่พวกเขาจะต้องหยุดยั้งให้ได้ไม่ว่าจะต้องเสียค่าใช้จ่ายมากมายสักเพียงใดก็ตาม
กระนั้นก็ตาม เมื่อหัวหน้าฟาริสีทูลเชิญพระองค์ไปเสวยพระกระยาหารที่บ้าน พระองค์ทรงตอบรับคำเชิญ เพราะไม่มีทางเลยที่พระองค์จะปฏิเสธคำเชิญเพื่อ “สัมพันธภาพ” แม้คำเชิญนั้นจะออกมาจากปากของศัตรูก็ตาม !
พระองค์ไม่เคยสิ้นหวังในตัวฟาริสี แม้ความหวังที่จะเปลี่ยนแปลงจิตใจของพวกเขาดูเหมือนจะริบหรี่ชนิด “ฝนทั่งให้เป็นเข็ม” ยังง่ายกว่าอีกก็ตาม
แต่หลักการอันแน่วแน่ของพระองค์ก็คือ “เราไม่มีทางทำให้ศัตรูกลายเป็นเพื่อนได้ หากเราไม่พูดคุยกับเขา” เข้าตำรา “ไม่เข้าถ้ำเสือ มีหรือจะได้ลูกเสือ”
ในเมื่อพระองค์ยังไม่สิ้นหวังกับศัตรูของพระองค์ มีหรือที่พระองค์จะสิ้นหวังกับเรา ?!?
ขอเพียงเราเองอย่าสิ้นหวัง เท่านั้น !!!
ที่บ้านของหัวหน้าฟาริสี “ผู้ที่อยู่ที่นั่นต่างจ้องมอง” พระองค์ (ลก 14:1)
คำกรีกที่ใช้คือ paratēréō (พาราเตแรโอ) หมายถึงการ “เฝ้าดูอย่างใกล้ชิดด้วยเจตนาร้าย” ดุจเดียวกับเหยี่ยวเฝ้าติดตามเหยื่อชนิดไม่คลาดสายตา
หากถูกเฝ้าติดตามหรือจ้องจับผิดเหมือนพระองค์ เราคงหงุดหงิด โกรธ บางคนอาจถึงขั้นประสาทเสียและทนไม่ได้ จนต้องเข้าแจ้งความกับตำรวจก็เคยปรากฏเป็นข่าวมาแล้ว
แต่พระเยซูเจ้าทรงเผชิญหน้ากับศัตรูผู้จ้องจับผิดด้วยจิตใจที่สงบ เบิกบาน และแจ่มใส ยิ่งไปกว่านั้น ยังทรงเตือนสติบรรดาศัตรูให้รู้จักรักและช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์แม้ในวันสับบาโต อีกทั้งทรงสอนพวกเขาให้รู้จักสุภาพถ่อมตนซึ่งเป็นหนทางสู่เกียรติยศที่ยิ่งใหญ่กว่า
พระองค์ตรัสกับพวกเขาว่า “เมื่อมีใครเชิญท่านไปในงานมงคลสมรส อย่าไปนั่งในที่ที่มีเกียรติ” (ลก 14:8)
ลองนึกภาพดูสิว่าจะ “หน้าแตก” สักแค่ไหนหากเรานั่งอยู่ในที่ที่มีเกียรติ แล้วถูกเจ้าภาพ “ลดชั้น” ด้วยการเชิญไปนั่งในที่สุดท้ายเพราะมีแขกผู้มีเกียรติมากกว่ามาร่วมงาน
ที่กล่าวเช่นนี้ มิได้หมายความว่าพระองค์ทรงสอนให้เรา “สุภาพถ่อมตน” เพื่อหลีกเลี่ยงอาการ “หน้าแตก” เท่านั้น แต่เพราะพระองค์ทรงตระหนักดีว่า “ความสุภาพถ่อมตน” คือ “คุณธรรมที่จำเป็นสำหรับความรอดพ้น”
ด้วยเหตุนี้ เราจึงได้ยินพระองค์เรียกร้องให้เลียนแบบอย่างความสุภาพถ่อมตนจากพระองค์เองว่า “จงรับแอกของเราแบกไว้ และมาเป็นศิษย์ของเรา เพราะเรามีใจสุภาพอ่อนโยนและถ่อมตน จิตใจของท่านจะได้รับการพักผ่อน” (มธ 11:29)
นอกจากนั้น ความสุภาพถ่อมตนยังเป็นหนทางสู่พระหรรษทานของพระเจ้า ดังที่นักบุญยากอบกล่าวว่า “พระเจ้าทรงต่อต้านคนเย่อหยิ่ง แต่ประทานพระหรรษทานแก่ผู้ถ่อมตน” (ยก 4:6)
และที่สำคัญ พระองค์เองทรงเลือกหนทางของ “ความสุภาพถ่อมตน” เพื่อช่วยมนุษย์เราให้รอดพ้น ดังที่นักบุญเปาโลกล่าวว่า “แม้ว่าพระองค์ทรงมีธรรมชาติพระเจ้า พระองค์ก็มิได้ทรงถือว่าศักดิ์ศรีเสมอพระเจ้านั้นเป็นสมบัติที่จะต้องหวงแหน แต่ทรงสละพระองค์จนหมดสิ้น ทรงรับสภาพดุจทาส เป็นมนุษย์ดุจเรา ทรงแสดงพระองค์ในธรรมชาติมนุษย์ ทรงถ่อมพระองค์จนถึงกับทรงยอมรับแม้ความตาย เป็นความตายบนไม้กางเขน” (ฟป 2:6-8)
อันที่จริง ประวัติศาสตร์ยืนยันตลอดมาว่าความสุภาพถ่อมตนเป็นคุณสมบัติของบุคคลผู้ยิ่งใหญ่จริง ๆ เมื่อครั้งที่โธมัส ฮาร์ดี้ (1840-1928) กวีและนักเขียนนวนิยายชาวอังกฤษ มีชื่อเสียงมากชนิดที่หนังสือพิมพ์ทุกฉบับพร้อมจ่ายเงินจำนวนมหาศาลเพื่อแลกกับผลงานของเขา เขากลับส่งผลงานพร้อมกับซองเปล่าติดแสตมป์จ่าหน้าถึงตัวเอง เผื่อว่ากองบรรณาธิการจะไม่ตีพิมพ์ผลงานของเขา
ความสุภาพถ่อมตน (humility) มาจากคำละติน humilitas (ฮูมีลีตาส) ซึ่งนักบุญโธมัส อะไควนัสอธิบายว่ามาจาก humus (ฮูมูส) อันหมายถึง “ดินที่อยู่ใต้เท้าเรา” นี่เอง
พระศาสนจักรสอนว่า “ความสุภาพถ่อมตนคือคุณธรรมซึ่งโน้มนำให้ผู้ที่ตระหนักถึงความบกพร่องของตนเอง ยอมรับว่าตนเองต่ำต้อย และดังนั้นจึงเต็มใจขึ้นตรงต่อพระเจ้าและต่อผู้อื่นเพราะเห็นแก่พระเจ้า”
มีผู้ให้คำแนะนำเพื่อคงรักษา “ความสุภาพถ่อมตน” ไว้ดังนี้
หรือเราอาจเป็นบุคคลสำคัญ มีตำแหน่งสำคัญมากก็จริง แต่เมื่อเกษียณจากตำแหน่งแล้ว เราจะเหลืออะไร ?
ยิ่งถ้าความตายมาเยือนด้วยแล้ว ต่อให้ใหญ่โตแค่ไหน ก็ได้โลงศพขนาดไล่เลี่ยกันเท่านั้นเอง !
ยิ่งถ้านำชีวิตของเราไปเทียบเคียงกับพระเยซูเจ้าด้วยแล้ว ความหยิ่งจองหองมีแต่จะลดหายตายจากไป คงเหลือไว้แต่เพียงเสียงร้องว่า “โปรดทรงพระเมตตาเถิด พระเจ้าข้า…”
ที่สุด พระเยซูเจ้าทรงแนะนำเจ้าภาพว่า “เมื่อท่านจัดงานเลี้ยง จงเชิญคนยากจน คนพิการ คนง่อย คนตาบอด แล้วท่านจะเป็นสุข เพราะคนเหล่านั้นไม่มีสิ่งใดตอบแทนท่านได้ ท่านจะได้รับการตอบแทนจากพระเจ้าเมื่อผู้ชอบธรรมกลับคืนชีวิต” (ลก 14:13-14)
พระองค์ตรัสเช่นนี้เท่ากับทรงประสงค์ให้ทุกคนตรวจสอบ “แรงจูงใจ” ของตนเมื่อคิดจะมีน้ำใจหรือเอื้ออาทรต่อผู้อื่น
แรงจูงใจในการ “ให้” อาจมีได้หลายรูปแบบ
การให้แบบนี้ไม่นับเป็นความใจกว้าง แต่เป็นเพียงความเห็นแก่ตัวอย่างหนึ่ง
นี่เป็นการให้เพื่อสนองตัณหาและอำนาจของผู้ให้เท่านั้นเอง
พวกรับบีจึงสอนว่า การให้ที่ดีที่สุดเกิดขึ้นเมื่อผู้ให้ไม่รู้ว่าใครคือผู้รับ และผู้รับไม่รู้ว่าใครคือผู้ให้ !
เพราะเป็นการให้แบบเดียวกับพระเจ้าผู้ “ทรงรักโลกอย่างมาก จึงประทานพระบุตรเพียงพระองค์เดียวของพระองค์ เพื่อทุกคนที่มีความเชื่อในพระบุตรจะไม่พินาศ แต่จะมีชีวิตนิรันดร” (ยน 3:16)
“ให้เพราะรัก” นี่แหละที่พระเจ้าจะตอบแทนเมื่อผู้ชอบธรรมกลับคืนชีวิต (ลก 14:14) !!!
อย่าเป็นคนโลภ
ความโลภมักทำให้จิตใจและความคิดหลงทาง
มันทำให้เสียความสมดุลของชีวิต
ความโลภมักทำร้ายตัวเราเอง
ทุกสิ่งมีได้และมีเสีย มีวาระและโอกาส
ใจสงบมีความสุขสำคัญกว่าการรอมีวัตถุ
เพื่อสะสมความสุข
เรามาตัวเปล่า ตายไปก็ตัวเปล่า
มีมากแค่ไหนก็ทานข้าวได้ทีละมื้อ สวมใส่ได้วันละชุด
ความโลภมักแสวงลาภ อาจทำให้ชีวิตล้มลงได้
1 ทิโมธี 6:10 “ด้วยว่าการรักเงินทองนั้น
เป็นมูลรากแห่งความชั่วทั้งมวล และเพราะความโลภนี่แหละ
จึงทำให้บางคนห่างไกลจากความเชื่อ และตรอมตรมด้วยความทุกข์”
พระเยซูเจ้าตรัสว่า
“จงรับแอกของเราแบกไว้ และมาเป็นศิษย์ของเรา เพราะเราเป็นผู้มีใจสุภาพอ่อนโยนและถ่อมตน”
มธ 11:29
แบ่งปันหน้านี้ให้เพื่อนอ่านด้วยสิ คลิก!
กรุณาแสดงความคิดเห็นอย่างสุภาพ
งดตอบคำถามที่นี่ หากต้องการสอบถามกรุณาเข้าไปที่ Facebook Messenger ไอคอนสีฟ้า (ด้านขวา/ล่าง)
วัดเซนต์จอห์น 1110/9 ลาดพร้าว ซอย 2 แขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900
Copyright © 2019 Saint John Church. All Rights Reserved.