• ยน 10:27-30 •
27“แกะของเราย่อมฟังเสียงของเรา เรารู้จักมัน และมันก็ตามเรา 28เราให้ชีวิตนิรันดรกับแกะเหล่านั้น และมันจะไม่พินาศเลยตลอดนิรันดร ไม่มีใครแย่งชิงแกะเหล่านั้นไปจากมือเราได้ 29พระบิดาของเรา ผู้ประทานแกะเหล่านี้ให้เรา ทรงยิ่งใหญ่กว่าทุกคน และไม่มีใครแย่งชิงไปจากพระหัตถ์ของพระบิดาได้ 30เรากับพระบิดาเป็นหนึ่งเดียวกัน”
ชาวยิวทูลถามพระเยซูเจ้าว่า “ท่านจะปล่อยให้ใจของพวกเราสงสัยอยู่นานเท่าใด ถ้าท่านเป็นพระคริสตเจ้า ก็จงบอกพวกเราให้ชัดเจนเถิด” (ยน 10:24) พระองค์ตรัสตอบว่า “เราบอกท่านทั้งหลายแล้วแต่ท่านไม่เชื่อ กิจการที่เราทำในนามของพระบิดาของเราก็เป็นพยานให้เรา แต่ท่านไม่เชื่อ เพราะท่านไม่ใช่แกะของเรา” (ยน 10:25-26)
อันที่จริง พระเยซูเจ้า ได้บอกหญิงชาวสะมาเรียแล้วว่าทรงเป็น “พระเมสสิยาห์” (ยน 4:26) และบอกคนตาบอดแต่กำเนิดว่า ทรงเป็น “พระบุตรของพระเจ้า” (ยน 9:37)
และก่อนหน้าพระองค์ ประกาศกอิสยาห์ได้ทำนายถึงยุคสมัยของพระเมสสิยาห์ไว้ว่า “นัยน์ตาของคนตาบอดจะแลเห็น หูของคนหูหนวกจะได้ยิน คนง่อยจะกระโดดได้อย่างกวาง และคนใบ้จะร้องตะโกนด้วยความยินดี” (อสย 35:5-6)
สิ่งที่อิสยาห์กล่าวทำนายไว้ พระองค์ทรงกระทำแล้วทั้งหมด !
ยิ่งไปกว่านั้น โมเสสยังได้ทำนายไว้ก่อนหน้าอิสยาห์เสียอีกว่า
พระเจ้าจะทรงแต่งตั้ง “ประกาศก” ผู้ยิ่งใหญ่เหมือนท่าน ที่ทุกคนจะต้องเชื่อฟัง (ฉธบ 18:15)
ทั้ง ๆ ที่ชาวยิวได้เห็นและได้ฟังแล้วว่าพระองค์ทรงสอนอย่างผู้ทรงอำนาจทั้งในน้ำเสียงและในเนื้อหา ต่างจากประกาศกก่อนหน้านี้อย่างสิ้นเชิง แต่พวกเขาก็ยังไม่เชื่อว่าพระองค์เป็นประกาศกของพระเจ้า และไม่ยอมรับว่าพระองค์ คือ พระเมสสิยาห์ หรือ พระคริสตเจ้า ผู้ทรงเป็นพระบุตรของพระเจ้า !
ทั้งนี้เพราะ พวกเขาไม่ใช่แกะของพระองค์ ! (ยน 10:26)
ตรงกันข้าม หากเป็นแกะของพระองค์ มันย่อมฟังเสียงของพระองค์ ติดตามพระองค์ และพระองค์ทรงรู้จักมันทุกตัวด้วย (เทียบ ยน 10:27)
ในปาเลสไตน์ ชาวยิวเลี้ยงแกะไว้เพื่อตัดขนมากกว่าเป็นอาหาร แกะแต่ละตัวจึงมีอายุยืนนานและอยู่กับคนเลี้ยงจนต่างฝ่ายต่างรู้จักและจำกันได้หมด คนเลี้ยงนิยมตั้งชื่อแกะตามลักษณะของมันเช่น ไอ้ขาลาย นังหูดำ เป็นต้น ปกติคนเลี้ยงจะเดินนำหน้าฝูงแกะเพื่อดูให้แน่ใจว่าหนทางข้างหน้าปลอดภัย และคอยส่งเสียงร้องเป็นครั้งคราวเพื่อให้แกะรู้ตำแหน่ง แกะจะฟังเสียงและติดตามคนเลี้ยงเสมอ หากได้ยินเสียงที่ไม่คุ้นเคย พวกมันจะหยุดอยู่กับที่ และจะหันหลังวิ่งหนีทันทีหากเสียงที่ไม่คุ้นเคยดังขึ้นอีกครั้งหนึ่ง
สำหรับ “แกะของพระเยซูเจ้า” ซึ่งฟังเสียงและติดตามพระองค์ นั่นคือ เชื่อและยอมรับว่าพระองค์ คือ “พระคริสตเจ้าผู้ทรงเป็นพระบุตรของพระเจ้า” พระองค์ทรงสัญญาจะประทาน 3 สิ่งคือ
คำถาม คือ ทำไมพระเยซูเจ้าจึงทรงมั่นใจและกล้าสัญญาจะประทานสิ่งที่ยิ่งใหญ่ปานนี้ ? พระองค์ทรงวางใจในฤทธิ์อำนาจของพระองค์เองมากเกินไปหรือไม่ ? เกี่ยวกับประเด็นนี้ พระองค์ทรงตอบคำถามไว้อย่างชัดเจนว่า “พระบิดาของเรา ผู้ประทานแกะเหล่านี้ให้เรา ทรงยิ่งใหญ่กว่าทุกคน และไม่มีใครแย่งชิงไปจากพระหัตถ์ของพระบิดาได้” (ยน 10:29)
แปลว่า เบื้องหลังความวางใจอย่างเต็มเปี่ยมของพระองค์คือ “พระบิดา” !
เป็นพระบิดาเองที่ทรงมอบแกะให้แก่พระองค์ !
เป็นพระบิดาเองที่ทรงยื่นพระหัตถ์ออกมาปกป้องแกะของพระองค์ !
พระบิดาทรงเปี่ยมด้วยฤทธิ์อำนาจและทรงยิ่งใหญ่ที่สุด !
เพราะฉะนั้น พระองค์ไม่ได้วางใจในฤทธิ์อำนาจของพระองค์เอง แต่ทรงวางใจในพระบิดาล้วน ๆ !!!
นี่คือพระเยซูเจ้า !!!
พระองค์แสนสุภาพถ่อมตนและวางใจในพระบิดาอย่างสุด ๆ
แล้วเรายังคิดจะเป็นศิษย์ล้างครู ด้วยการวางใจและพึ่งพาความสามารถตามประสามนุษย์ของตนเองล้วน ๆ ต่อไปอีกหรือ ?
ที่สุด พระเยซูเจ้าทรงเปิดเผยความจริงอันยิ่งใหญ่ที่สุดเกี่ยวกับพระองค์เอง นั่นคือ
“พระองค์กับพระบิดาทรงเป็นหนึ่งเดียวกัน” (เทียบ ยน 10:30)
นักปรัชญาและนักเทววิทยาได้คิดค้นคำเฉพาะ คือ Hypostasis ขึ้นมาเพื่ออธิบายว่าทั้งสองพระองค์ทรงมี “แก่นสาร” หรือ “สาระสำคัญ” เดียวกัน ฟังดูรื่นหู แต่ก็ยังเป็นธรรมล้ำลึกที่เข้าใจได้ยาก หรืออาจไม่มีทางเข้าใจได้เลย !… จึงอยากให้เราหันกลับมาอ่านพระวรสาร เพื่อค้นหาความหมายที่ง่ายและชัดเจนว่าพระองค์ทรงหมายถึงสิ่งใด เมื่อตรัสว่า “เรากับพระบิดาทรงเป็นหนึ่งเดียวกัน”
หลังอาหารค่ำครั้งสุดท้าย พระเยซูเจ้าทรงอธิษฐานภาวนาเพื่อบรรดาศิษย์ของพระองค์ว่า “ข้าแต่พระบิดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ โปรดเฝ้ารักษาบรรดาผู้ที่ทรงมอบให้ข้าพเจ้าไว้ในพระนามของพระองค์ เพื่อเขาจะได้เป็นหนึ่งเดียวกันเหมือนกับพระองค์และข้าพเจ้า” (ยน 17:11)
และอีกตอนหนึ่ง พระองค์กล่าวว่า “พระสิริรุ่งโรจน์ที่พระองค์ประทานให้ข้าพเจ้านั้น ข้าพเจ้าได้ให้กับเขา เพื่อให้เขาเป็นหนึ่งเดียวกันเช่นเดียวกับ ที่พระองค์และข้าพเจ้าเป็นหนึ่งเดียวกัน” (ยน 17:22)
แปลว่า พระองค์ทรงมองความเป็นหนึ่งเดียวกันระหว่างบรรดาศิษย์ว่า “เหมือน” กับความเป็นหนึ่งเดียวกันระหว่างพระองค์กับพระบิดา ! แต่เนื่องจากความเป็นหนึ่งเดียวกันระหว่างบรรดาศิษย์มีเคล็ดลับอยู่ที่คำสั่ง “ให้ท่านรักกัน เรารักท่านทั้งหลายอย่างไร ท่านก็จงรักกันอย่างนั้นเถิด” (ยน 13:34)
“ความรัก” จึงเป็นบ่อเกิดของความเป็น “หนึ่งเดียว” !
บรรดาศิษย์เป็นหนึ่งเดียวกันเพราะ “รักกัน” ฉันใด พระเยซูเจ้าและพระบิดาทรงเป็นหนึ่งเดียวกันก็เพราะทรง “รักกัน” ฉันนั้น !
นี่คือคำอธิบายว่า “เรากับพระบิดาทรงเป็นหนึ่งเดียวกัน” หมายความว่าอะไร !
ประเด็นถัดไปคือ แล้วเราจะพิสูจน์ “ความรัก” ของเราได้อย่างไร ?
พระเยซูเจ้าตรัสว่า “ถ้าท่านปฏิบัติตามบทบัญญัติของเรา ท่านก็จะดำรงอยู่ในความรักของเรา เหมือนกับที่เราปฏิบัติตามบทบัญญัติของพระบิดาของเรา และดำรงอยู่ในความรักของพระองค์” (ยน 15:10) และอีกครั้งหนึ่งว่า “ถ้าท่านทั้งหลายรักเรา ท่านจะปฏิบัติตามบทบัญญัติของเรา” (ยน 14:15)
เห็นได้ชัดเจนว่า บทพิสูจน์ความรักที่พระองค์ทรงเรียกร้องจากเราคือการปฏิบัติตามบทบัญญัติของพระองค์
หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือทรงปรารถนาให้เรา “นบนอบเชื่อฟัง” พระองค์ !
ทั้งหมดนี้นำมาสู่บทสรุปที่ว่า…
เมื่อพระเยซูเจ้าตรัสว่า “เรากับพระบิดาเป็นหนึ่งเดียวกัน” พระองค์กำลังบอกเราว่า “พระองค์ทรงรักพระบิดาจนถึงที่สุด และทรงพิสูจน์ความรักของพระองค์ด้วยการนบนอบเชื่อฟังพระบิดาจนกระทั่งยอมตาย แม้เป็นความตายบนไม้กางเขน”
สำหรับพระองค์ ความเป็นหนึ่งเดียวกัน จึงหมายถึง ความรัก และการนบนอบเชื่อฟัง !
เมื่อ “เราเป็นหนึ่งเดียวกับพระเยซูเจ้า” โดยเฉพาะเมื่อรับศีลมหาสนิท เรากล้าทูลพระองค์หรือไม่ว่า…
" ลูกรักพระองค์สุดชีวิต ลูกพร้อมนบนอบเชื่อฟังพระองค์ ลูกพร้อมดำเนินชีวิตตามพระประสงค์ของพระองค์ ลูกพร้อมตายต่อตนเองเพื่อดำเนินชีวิตเหมือนพระองค์ ? "