ลก 6:27-38
27แต่เรากล่าวกับท่านทั้งหลายที่กำลังฟังอยู่ว่า จงรักศัตรู จงทำดีต่อผู้ที่เกลียดชังท่าน 28จงอวยพรผู้ที่สาปแช่งท่าน จงอธิษฐานภาวนาให้ผู้ที่ทำร้ายท่าน 29ผู้ใดตบแก้มท่านข้างหนึ่ง จงหันแก้มอีกข้างหนึ่งให้เขาตบด้วย ผู้ใดเอาเสื้อคลุมของท่านไป จงปล่อยให้เขาเอาเสื้อยาวไปด้วย 30จงให้แก่ทุกคนที่ขอท่าน และอย่าทวงของของท่านคืนจากผู้ที่ได้แย่งไป 31ท่านอยากให้เขาทำต่อท่านอย่างไร ก็จงทำต่อเขาอย่างนั้นเถิด 32ถ้าท่านรักเฉพาะผู้ที่รักท่าน ท่านจะเป็นที่พอพระทัยของพระเจ้าได้อย่างไร คนบาปก็ยังรักผู้ที่รักเขาด้วย 33ถ้าท่านทำดีเฉพาะต่อผู้ที่ทำดีต่อท่าน ท่านจะเป็นที่พอพระทัยของพระเจ้าได้อย่างไร คนบาปก็ยังทำเช่นนั้นด้วย 34ถ้าท่านให้ยืมเงินโดยหวังจะได้คืน ท่านจะเป็นที่พอพระทัยพระเจ้าได้อย่างไร คนบาปก็ให้คนบาปด้วยกันยืมโดยหวังจะได้เงินคืนจำนวนเท่ากัน 35แต่ท่านจงรักศัตรู จงทำดีต่อเขา จงให้ยืมโดยไม่หวังอะไรกลับคืนแล้วบำเหน็จรางวัลของท่านจะใหญ่ยิ่ง ท่านจะเป็นบุตรของพระผู้สูงสุด เพราะพระองค์ทรงพระกรุณาต่อคนอกตัญญูและต่อคนชั่วร้าย
36จงเป็นผู้เมตตากรุณาดังที่พระบิดาของท่านทรงพระเมตตากรุณาเถิด 37อย่าตัดสินเขาแล้วพระเจ้าจะไม่ทรงตัดสินท่าน อย่ากล่าวโทษเขา แล้วพระเจ้าจะไม่ทรงกล่าวโทษท่าน จงให้อภัยเขาแล้วพระเจ้าจะทรงให้อภัยท่าน 38จงให้ แล้วพระเจ้าจะประทานแก่ท่าน ท่านจะได้รับเต็มสัดเต็มทะนานอัดแน่นจนล้น เพราะว่าท่านใช้ทะนานใดตวงให้เขา พระเจ้าก็จะทรงใช้ทะนานนั้นตวงตอบแทนให้ท่านด้วย
ครั้งหนึ่ง มีธรรมาจารย์ถามพระเยซูเจ้าว่าบัญญัติข้อใดเป็นเอกกว่าข้ออื่น พระองค์ตรัสตอบว่า “ท่านจะต้องรักองค์พระผู้เป็นเจ้า พระเจ้าของท่านสุดจิตใจ สุดวิญญาณ สุดสติปัญญา และสุดกำลังของท่าน บทบัญญัติประการที่สองก็คือ ท่านจะต้องรักเพื่อนมนุษย์เหมือนรักตนเอง” (มก 12:30-31; มธ 22:36-39)
ลำพัง “รักเพื่อนมนุษย์เหมือนรักตนเอง” ก็ถือว่าสุดยอดแล้ว
แต่วันนี้พระองค์ทรงประทานบัญญัติใหม่ที่สุดยอดกว่าอีกนั่นคือ “จงรักศัตรู”
สำหรับเราที่ใช้คำว่า “รัก” กับทุกสิ่ง ไม่ว่าจะรักพ่อรักแม่ รักพี่รักน้อง รักเพื่อน รักข้าวรักของ หรือแม้แต่รักหมารักแมว ก็ล้วนแล้วแต่ใช้คำว่า “รัก” เหมือนกัน คงอดสงสัยไม่ได้ว่าจะปฏิบัติตามบัญญัติข้อนี้ได้อย่างไรกันในเมื่อมันฝืนธรรมชาติเหลือเกิน เพราะขนาดลูกในไส้ของตนเองแท้ ๆ ยังรักไม่เท่ากันเลย บางคนถึงกับเกลียดขี้หน้าลูกของตัวเองก็มี แล้วจะให้ “รัก” ศัตรูเหมือน “รัก” พ่อ “รัก” แม่ได้อย่างไรกัน ?
แต่สำหรับชาวกรีกซึ่งแยกแยะความรักออกเป็นประเภทต่าง ๆ และใช้ศัพท์แตกต่างกันถึง 4 คำเพื่อหมายถึง “ความรัก” นั้น พวกเขาไม่เห็นว่าเป็นการฝืนธรรมชาติแต่อย่างใด ศัพท์ทั้ง 4 คำได้แก่
คำศัพท์ที่พระเยซูเจ้าทรงใช้เวลาสั่งให้เรา “รักศัตรู” คือ agapē (อากาเป) ซึ่งหมายความว่าพระองค์ทรงมีพระประสงค์ให้เรา “ปรารถนาดีต่อศัตรูและช่วยเหลือศัตรูให้บรรลุความดีสูงสุด” !
ปกติ ความรักเป็นเรื่องของ “หัวใจ” ซึ่งมักจะหักห้ามกันไม่ได้ จนเกิดเป็นคำพูดติดปากว่า “ตกหลุมรัก” แต่ความปรารถนาดี (อากาเป) เป็นเรื่องของ “อำเภอใจ” ซึ่งเราสามารถควบคุมได้โดยอาศัยความช่วยเหลือจากพระเยซูเจ้าผู้ทรงมอบ “อำเภอใจ” ของพระองค์ทั้งหมดแด่พระบิดาเจ้า
แปลว่า พระองค์ไม่ได้สั่งให้เราต้องตกหลุมรักศัตรู ดุจดังชายหนุ่มตกหลุมรักหญิงสาว (เอรอส) หรือให้เรารักศัตรูเท่าเทียมกับพ่อแม่และลูกหลาน (สตอร์เก) หรือ ต้องรักศัตรูอย่างอบอุ่นราวกับเป็นมิตรสหายของเรา (ฟีเลีย) ซึ่งล้วนแล้วแต่ฝืนธรรมชาติและไม่มีทางเป็นไปได้
แต่สิ่งที่พระองค์ต้องการจากเราคือ “อำเภอใจ” ที่ปรารถนาให้ศัตรูของเรา หรือผู้ที่เกลียดชังเรา “บรรลุความดีสูงสุด” ซึ่งอำเภอใจเช่นนี้จะเปิด “หัวใจ” ของเราให้พยายามทุกวิถีทางที่จะ “ทำดี” และ “มีเมตตา” ต่อพวกเขา ดังเช่น
ทำดีต่อผู้ที่เกลียดชังเรา (ลก 6:27)
อวยพรผู้ที่สาปแช่งเรา (ลก 6:28)
อธิษฐานภาวนาให้ผู้ที่ทำร้ายเรา (ลก 6:28)
หรือ “อดทน” ต่อพวกเขา แม้ว่าพวกเขาจะ ตบแก้มเรา (ลก 6:29)
เอาเสื้อคลุมของเราไป (ลก 6:29)
รวมถึง “ให้” แก่ทุกคนที่ขอเราและ “ไม่ทวง” ของคืนจากผู้ที่ได้แย่งเราไป (ลก 6:30)
ฯลฯ
พร้อมกันนี้ พระเยซูเจ้าทรงบอกเหตุผลที่ทรงสั่งให้เรา “รักศัตรู” ว่า เพื่อเราจะได้เป็น “บุตรของพระผู้สูงสุด” (ลก 6:35) เนื่องจากภาษาฮีบรูไม่ค่อยมีคำคุณศัพท์ จึงต้องเลี่ยงไปใช้สำนวน “บุตรของ”… หรือ “บุตรแห่ง”…. (son of…) แล้วตามด้วยคำนามแทน
สำหรับชาวฮีบรู “บุตรแห่งความสว่าง” จึงหมายถึง “คนดี”
“บุตรแห่งมนุษย์” ซึ่งเป็นสมญานามที่พระเยซูเจ้าทรงใช้เรียกตัวพระองค์เอง จึงหมายถึง “เหมือนมนุษย์”
และ “บุตรของพระเจ้า” จึงหมายถึง “เหมือนพระเจ้า”
แปลว่าจุดมุ่งหมายที่พระองค์ทรงสั่งให้เรา “รักศัตรู” ก็คือ “เพื่อให้เราเหมือนพระเจ้าผู้สูงสุด” พระเจ้าผู้ “ทรงพระกรุณาต่อคนอกตัญญูและต่อคนชั่วร้าย” (ลก 6:35) พระเจ้าผู้ทรง “โปรดให้ดวงอาทิตย์ของพระองค์ขึ้นเหนือคนดีและคนชั่ว โปรดให้ฝนตกเหนือคนชอบธรรมและคนอธรรม” (มธ 5:45)…
ซึ่งจุดมุ่งหมายให้เรา “เหมือนพระเจ้า” นี้มีมาตั้งแต่สร้างโลกแล้ว ดังที่พระองค์ตรัสไว้ว่า “เราจงสร้างมนุษย์ขึ้นตามภาพลักษณ์ของเรา ให้มีความคล้ายคลึงกับเรา” (ปฐก 1:26) และสอดคล้องกับจุดมุ่งหมายในอนาคตที่นักบุญยอห์นกล่าวไว้ว่า “เราจะเป็นอย่างไรในอนาคตนั้นยังไม่ปรากฏชัดแจ้ง เราตระหนักดีว่า เมื่อพระองค์ทรงปรากฏ เราจะเป็นเหมือนพระองค์ เพราะเราจะได้เห็นพระองค์อย่างที่พระองค์ทรงเป็น” (1 ยน 3:2)
เพราะฉะนั้น หากเรา “รักศัตรู” เราก็เป็น “เหมือนพระเจ้า” ตั้งแต่ในโลกนี้แล้ว
หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ…. เราได้เป็นสมาชิกของอาณาจักรสวรรค์ตั้งแต่ในโลกนี้แล้ว !!!
นอกจากทรงสอนให้ “รักศัตรู” แล้ว พระองค์ยังวางหลักการซึ่งเป็น “แก่นสำคัญของจริยธรรมแบบคริสต์” อีกด้วย
หลักการประการแรก คือ “ไม่ทำชั่ว” อย่างเดียวไม่พอ ต้อง “ทำดี” ด้วย
เพราะพระองค์ตรัสว่า “ท่านอยากให้เขาทำต่อท่านอย่างไร ก็จงทำต่อเขาอย่างนั้นเถิด” (ลก 6:31) นี่คือ คำสอนใหม่สุด !!!
เพราะก่อนหน้าพระเยซูเจ้า พวกเขาสอนกันดังนี้…
ฮิลเลล หนึ่งในบรรดารับบีผู้ยิ่งใหญ่ของชาวยิว ได้รับเดิมพันจากชายคนหนึ่งให้สรุปสาระสำคัญของธรรมบัญญัติให้จบขณะที่เขายืนอยู่บนขาเพียงข้างเดียว หากฮิลเลลทำสำเร็จเขาจะยอมหันมานับถือศาสนายิว ฮิลเลลตอบว่า “อะไรที่น่ารังเกียจสำหรับท่าน จงอย่าทำแก่ผู้อื่น”
โทบิตสอนโทบียาห์ ผู้เป็นบุตรชายว่า “ลูกเกลียดสิ่งใด ก็อย่าทำสิ่งนั้นแก่ผู้อื่น” (ทบต 4:15)
ฟีโล หนึ่งในปัญญาชนชาวยิวที่อาศัยอยู่ในเมืองอเลกซานเดรีย ทูลกษัตริย์อียิปต์ว่า “สิ่งใดที่พระองค์ไม่ทรงปรารถนาจะประสบ ขออย่าทำสิ่งนั้นแก่ผู้อื่น”
ไอโซเครตีส นักพูดชาวกรีก กล่าวว่า “สิ่งใดที่ทำให้ท่านโกรธเมื่อผู้อื่นปฏิบัติต่อท่าน จงอย่าทำสิ่งนั้นแก่ผู้อื่น”
ลัทธิสโตอิกมีหลักการพื้นฐานว่า “สิ่งใดที่ท่านไม่ปรารถนาให้ผู้อื่นกระทำแก่ท่าน จงอย่ากระทำสิ่งนั้นแก่ผู้อื่น”
แม้ ขงจื้อ เมธีผู้มีชื่อเสียงของชาวจีนก็สอนเช่นเดียวกันว่า “อะไรที่ท่านไม่ต้องการให้ผู้อื่นกระทำแก่ท่าน จงอย่ากระทำแก่ผู้อื่น”
จะเห็นว่าก่อนหน้าพระองค์ จริยธรรมมีลักษณะเชิงนิเสธ (negative) นั่นคือ “อย่าทำ” ซึ่งการหลีกเลี่ยงไม่กระทำสิ่งใด หรือการอยู่เฉย ๆ นั้น ถือว่าไม่ยากเย็นนัก อันที่จริง คำสอนหรือหลักการที่ “ห้าม” หรือ “อย่าทำ” นั้น ไม่ใช่หลักการทางศาสนาแต่เป็นหลักการทางกฎหมาย ซึ่งคนที่ไม่มีศาสนาอยู่ในหัวใจก็ต้องปฏิบัติตามอยู่แล้วหากไม่อยากติดคุกติดตะราง
ด้วยเหตุนี้ ความดี อันเกิดจากการ “ไม่กระทำ” จึงถือว่าไม่เพียงพอและอยู่คนละฟากกับคำสอนของพระเยซูเจ้าอย่างสิ้นเชิง เพราะพระองค์ตรัสว่า “ท่านอยากให้เขาทำต่อท่านอย่างไร ก็จงทำต่อเขาอย่างนั้นเถิด”
เห็นได้ชัดเจนว่าคำสอนของพระองค์มีลักษณะเชิงบวก (positive) นั่นคือ ทรงเรียกร้องให้เราออกจาก “โลกของตัวเอง” และเริ่ม “ทำก่อน”
นั่นคือ ทำสิ่งที่เราอยากให้ผู้อื่นทำต่อเราก่อน !
คำสอนของพระองค์ทำให้เราเป็น “คนใหม่” มี “ชีวิตใหม่” มี “หลักการใหม่” และมี “ทัศนคติใหม่” ต่อผู้อื่น
กฎหมายบ้านเมืองอาจห้ามเราขับรถฝ่าสัญญาณไฟแดง หรือห้ามเราขับรถเร็วเกินกำหนดได้ แต่จะบังคับให้เราหยุดรถเพื่อรับคนเดินข้างถนนติดรถไปด้วยไม่ได้
กฎหมายห้ามเราฆ่าคนได้ แต่จะสั่งให้เราช่วยเหลือผู้ขัดสน หรือ ผู้ด้อยโอกาสไม่ได้
มีแต่ “ความรัก” ของพระเยซูเจ้าเท่านั้นที่ผลักดันให้เราทำเช่นนี้ก่อนได้!
การ “ทำ” สิ่งที่เราอยากให้ผู้อื่นทำต่อเราก่อน จึงเป็นสุดยอดของจริยธรรมคริสต์ และเป็นสุดยอดของจริยธรรมด้านสังคมด้วย
และที่สำคัญเป็น “กฎทอง” ที่ทำให้ “เรา” และ “ทุกคน” มีความสุขอย่างแท้จริง !!
หลักการที่สองของจริยธรรมคริสต์ คือ “ต้องดีเหมือนพระเจ้า”
พระองค์ตรัสว่า “ถ้าท่านรักเฉพาะผู้ที่รักท่าน…ทำดีเฉพาะต่อผู้ที่ทำดีต่อท่าน…หรือให้ยืมเงินโดยหวังจะได้คืน ท่านจะเป็นที่พอพระทัยพระเจ้าได้อย่างไร คนบาปก็ทำเช่นนั้นด้วย” (เทียบ ลก 6:32-34)
และทรงเสริมอีกว่า “จงเป็นผู้เมตตากรุณาดังที่พระบิดาของท่านทรงพระเมตตากรุณาเถิด” (ลก 6:36) หมายความว่า การทำดีตามมาตรฐานของมนุษย์ หรือโดยเทียบเคียงกับมนุษย์ด้วยกันเอง ยังไม่เป็นการเพียงพอเพราะเราทุกคนต่างก็เป็นคนบาป
เราแต่ละคนต้องทำดี “เป็นพิเศษ” !!!
นั่นคือ ดี “ดุจดังพระบิดาเจ้า”…
ทั้งนี้โดยอาศัยพระหรรษทานและความช่วยเหลือจากพระเยซูเจ้า ผู้ทรงตรัสว่า “เราเป็นเถาองุ่น ท่านทั้งหลายเป็นกิ่งก้าน ผู้ที่ดำรงอยู่ในเรา และเราดำรงอยู่ในเขา ก็ย่อมเกิดผลมาก เพราะถ้าไม่มีเรา ท่านก็ทำอะไรไม่ได้เลย” (ยน 15:5)
ที่ผ่านมา เราอาจภูมิใจเมื่อเปรียบเทียบตัวเรากับผู้อื่น แต่เราจะหยุดอยู่เพียงเท่านี้ไม่ได้
เพราะหลักชัยเปรียบเทียบของเราคือ “พระบิดาเจ้า” !!!
ได้ยินดังนี้แล้ว หลายคนอาจ “ท้อแท้” แต่อย่าเพิ่ง “ท้อถอย”….
เพราะว่า แม้พระองค์จะทรงเรียกร้องให้เราดีดุจดังพระบิดาเจ้าผู้สูงสุด แต่พระองค์ทรงพิพากษาเราตาม “มาตรฐานที่เราปฏิบัติต่อผู้อื่น”….(ลก 6:37)
ถ้าเราไม่ตัดสินผู้อื่น พระองค์ก็ไม่ตัดสินเรา
ถ้าเราไม่กล่าวโทษผู้อื่น พระองค์ก็ไม่กล่าวโทษเรา
ถ้าเราให้อภัยผู้อื่น พระองค์จะทรงให้อภัยเรา
เรา “ให้” ผู้อื่นมากเท่าใด พระองค์ก็ทรงใช้ทะนานเดียวกันตวง “ให้” เรามากเท่านั้น
(ลก 6:38)