ยน 20:19-31
19ค่ำวันนั้นซึ่งเป็นวันต้นสัปดาห์ ประตูห้องที่บรรดาศิษย์กำลังชุมนุมกันปิดอยู่เพราะกลัวชาวยิว พระเยซูเจ้าเสด็จเข้ามาประทับยืนอยู่ตรงกลาง ตรัสกับเขาทั้งหลายว่า “สันติสุขจงสถิตอยู่กับท่านทั้งหลายเถิด” 20ตรัสดังนี้แล้ว พระองค์ทรงให้บรรดาศิษย์ดูพระหัตถ์และด้านข้างพระวรกาย เมื่อเขาเหล่านั้นเห็นองค์พระผู้เป็นเจ้า ก็มีความยินดี 21พระองค์ตรัสกับเขาอีกว่า “สันติสุขจงสถิตอยู่กับท่านทั้งหลายเถิด พระบิดาทรงส่งเรามาฉันใด เราก็ส่งท่านทั้งหลายไปฉันนั้น” 22ตรัสดังนี้แล้ว พระองค์ทรงเป่าลมเหนือเขาทั้งหลาย ตรัสว่า “จงรับพระจิตเจ้าเถิด 23ท่านทั้งหลายอภัยบาปของผู้ใด บาปของผู้นั้นก็ได้รับการอภัย ท่านทั้งหลายไม่อภัยบาปของผู้ใด บาปของผู้นั้นก็ไม่ได้รับการอภัยด้วย”
24โทมัส ซึ่งเรียกกันว่า “ฝาแฝด” เป็นคนหนึ่งในบรรดาอัครสาวกสิบสองคน ไม่ได้อยู่กับอัครสาวกคนอื่น ๆ เมื่อพระเยซูเจ้าเสด็จมา 25ศิษย์คนอื่นบอกเขาว่า “พวกเราเห็นองค์พระผู้เป็นเจ้าแล้ว” แต่เขาตอบว่า “ถ้าข้าพเจ้าไม่ได้เห็นรอยตะปูที่พระหัตถ์ และไม่ได้เอานิ้วแยงเข้าไปที่รอยตะปู และไม่ได้เอามือคลำที่ด้านข้างพระวรกายของพระองค์ ข้าพเจ้าจะไม่เชื่อเป็นอันขาด”
26แปดวันต่อมา บรรดาศิษย์อยู่ด้วยกันในบ้านนั้นอีก โทมัสก็อยู่กับเขาด้วย ทั้ง ๆ ที่ประตูปิดอยู่ พระเยซูเจ้าเสด็จเข้ามาประทับยืนอยู่ตรงกลาง ตรัสกับเขาทั้งหลายว่า “สันติสุขจงสถิตอยู่กับท่านทั้งหลายเถิด” 27แล้วตรัสกับโทมัสว่า “จงเอานิ้วมาที่นี่ และดูมือของเราเถิด จงเอามือมาที่นี่ คลำที่สีข้างของเรา อย่าสงสัยอีกต่อไป แต่จงเชื่อเถิด” 28โทมัสทูลพระองค์ว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้าของข้าพเจ้า และพระเจ้าของข้าพเจ้า” 29พระเยซูเจ้าตรัสกับเขาว่า “ท่านเชื่อเพราะได้เห็นเรา ผู้ที่เชื่อแม้ไม่ได้เห็น ก็เป็นสุข”
30พระเยซูเจ้ายังทรงกระทำเครื่องหมายอัศจรรย์อื่นอีกหลายประการให้บรรดาศิษย์เห็น แต่ไม่ได้บันทึกไว้ในหนังสือเล่มนี้ 31เรื่องราวเหล่านี้ถูกบันทึกไว้เพื่อท่านทั้งหลายจะได้เชื่อว่า พระเยซูเจ้าเป็นพระคริสตเจ้า พระบุตรของพระเจ้า และเมื่อมีความเชื่อนี้แล้ว ท่านทั้งหลายก็จะมีชีวิตเดชะพระนามของพระองค์
1. “พระบิดาทรงส่งเรามาฉันใด เราก็ส่งท่านทั้งหลายไปฉันนั้น”
หลังจากพระเยซูเจ้าทรงถูกตรึงตายบนไม้กางเขนแล้ว บรรดาอัครสาวกกลับมาหลบซ่อนอยู่ในห้องที่เคยใช้เลี้ยงอาหารค่ำครั้งสุดท้าย คอยเงี่ยหูฟังเสียงคนขึ้นบันไดหรือเคาะประตูด้วยความหวาดกลัว เกรงว่าเจ้าหน้าที่ของสภาสูงจะมาจับกุม และคงไม่แคล้วถึงเวรของพวกตนที่จะถูกตัดสินประหารชีวิตให้ตายตกตามพระอาจารย์ไป
ทันใดนั้น ทั้ง ๆ ที่ประตูห้องยังปิดอยู่ พระเยซูเจ้าเสด็จมาประทับยืนอยู่ท่ามกลางพวกเขาตรัสว่า “สันติสุขจงสถิตอยู่กับท่านทั้งหลายเถิด” (ยน 20:19) คำ “สันติสุข” หรือ shalōm (ชาโลม) ในภาษาฮีบรู ไม่ได้หมายถึงเพียง “พ้นทุกข์” แต่ยังหมายรวมถึง “ขอให้บรรลุความดีและความสมบูรณ์สูงสุด” อีกด้วย พระองค์จึงไม่เพียงวอนขอให้บรรดาอัครสาวกรอดพ้นจากภยันตรายเท่านั้น แต่ทรงวอนขอพระบิดาเจ้าได้โปรดประทานสิ่งที่ “ดีที่สุด” แก่พวกเขาด้วย
หลังจากประทานพรและให้บรรดาอัครสาวกดูพระหัตถ์และด้านข้างพระวรกายจนพวกเขาเชื่อว่าทรงเป็น “องค์พระผู้เป็นเจ้า” แล้ว (ยน 19:20) พระองค์ทรงเข้าสู่ประเด็นสำคัญทันที นั่นคือทรงสั่งว่า “พระบิดาทรงส่งเรามาฉันใด เราก็ส่งท่านทั้งหลายไปฉันนั้น”
คำสั่งนี้แฝงนัยสำคัญ 3 ประการ คือ
ความรักและความนบนอบนี้เอง เรียกร้องให้พระศาสนจักรประกาศข่าวดีของพระเยซูเจ้า ไม่ใช่ข่าวดีของพระศาสนจักรหรือของผู้หนึ่งผู้ใดโดยเฉพาะ อีกทั้งต้องพร้อมเผชิญหน้าและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ตามพระประสงค์ของพระองค์ ไม่ใช่ตามนโยบายหรือตามความนึกคิดประสามนุษย์ของพระศาสนจักรเอง
หากยึดพระประสงค์ของพระองค์เป็นที่ตั้งดังนี้แล้ว ปัญหาต่าง ๆ ที่รุมเร้าพระศาสนจักรก็จะคลี่คลายลง
2. “จงรับพระจิตเจ้าเถิด”
นอกจากส่งบรรดาอัครสาวกซึ่งเป็นอวัยวะส่วนหนึ่งของ “พระกายของพระคริสตเจ้า” ไปประกาศข่าวดีแล้ว พระองค์ยังทรงเป่าลมเหนือเขาทั้งหลายตรัสว่า “จงรับพระจิตเจ้าเถิด”
เมื่อพูดถึง “เป่าลม” ยอห์นกำลังคิดถึงการสร้างมนุษย์ในพระธรรมเก่าซึ่งบันทึกไว้ว่า “พระยาห์เวห์พระเจ้าทรงเอาฝุ่นจากพื้นดิน มาปั้นมนุษย์และทรงเป่าลมแห่งชีวิตเข้าในจมูกของเขา มนุษย์จึงเป็นผู้มีชีวิต” (ปฐก 2:7) และเรื่องกระดูกแห้งในหุบเขามรณะที่พระเจ้าตรัสกับลมว่า “ลมเอ๋ย จงมาจากทิศทั้งสี่ และพ่นเข้าไปในผู้ที่ถูกฆ่าเหล่านี้ ให้เขามีชีวิตอีก” (อสค 37:9)
เห็นได้ชัดว่า “ลม” คือ “ชีวิต”
เมื่อพระเยซูเจ้าทรงเป่า “ลม” เหนือบรรดาอัครสาวกพร้อมกับตรัสว่า “จงรับพระจิตเจ้าเถิด” จึงแปลเป็นอื่นไปไม่ได้นอกจาก “ลม” คือ “พระจิตเจ้า”
เราจึงสรุปได้ว่า “พระจิตเจ้า” คือ “ชีวิต”
เท่ากับว่า พระองค์ทรงประทานชีวิตใหม่ให้แก่บรรดาอัครสาวกและพระศาสนจักร โดยทางพระจิตเจ้า
พูดง่าย ๆ ก็คือ พระจิตเจ้าทรงทำให้พระศาสนจักรและเราทุกคนมีชีวิตใหม่
เมื่อได้รับชีวิตใหม่อาศัยพระจิตเจ้าแล้ว บรรดาอัครสาวกเลิกหวาดกลัวพวกหัวหน้าของชาวยิว เลิกหลบซ่อน แล้วแยกย้ายกันไปปฏิบัติภารกิจตามที่ได้รับมอบหมาย
แล้วเราจะใช้ชีวิตใหม่ที่ได้รับมาอย่างไร ?
3. “ท่านทั้งหลายอภัยบาปของผู้ใด บาปของผู้นั้นก็ได้รับการอภัย”
ภารกิจแรกของพระเยซูเจ้าหลังกลับคืนพระชนมชีพคือการส่งพระ ศาสนจักรออกไปประกาศข่าวดี และข่าวดีแรกที่พระองค์ทรงสั่งให้ประกาศก็คือ “การอภัยบาป” แต่การจะอภัยบาปหรือไม่อภัยบาปแก่ผู้ใด หาได้ขึ้นกับอำเภอใจของพระศาสนจักรหรือของพระสงฆ์องค์ใดองค์หนึ่งแต่ประการใดไม่
ย้อนกลับไปเมื่อพระเยซูเจ้าทรงเริ่มภารกิจเปิดเผย พระองค์ประกาศว่า “จงกลับใจเถิด เพราะอาณาจักรสวรรค์อยู่ใกล้แล้ว” (มธ 4:17)
เพราะฉะนั้น พระศาสนจักรต้องประกาศการอภัยบาปแก่ผู้ที่เป็นทุกข์กลับใจ !!
ส่วนผู้ที่ยังไม่เป็นทุกข์กลับใจ พระศาสนจักรต้องตักเตือน ต้องสั่งสอน และต้องพยายามทุกวิถีทางเพื่อช่วยให้เขาเป็นทุกข์กลับใจและได้รับการอภัยบาป เราจึงต้องหันกลับมาดูตัวเองว่า เราได้เป็นทุกข์กลับใจและได้ช่วยผู้อื่นให้เป็นทุกข์กลับใจเพื่อจะได้รับการอภัยบาปบ้างแล้วหรือยัง ?
4. “องค์พระผู้เป็นเจ้าของข้าพเจ้า และพระเจ้าของข้าพเจ้า”
โทมัสเป็นศิษย์ผู้กล้าหาญและรักพระเยซูเจ้ามาก ท่านเคยชักชวนบรรดาอัครสาวกไปกรุงเยรูซาเล็มกล่าวว่า “พวกเราจงไปตายพร้อมกับพระองค์เถิด” (ยน 11:16) แต่เมื่อยูดาสนำทหารมาจับกุมพระองค์ โทมัสกลับหลบหน้าหนีไป
บทเรียนจากชีวิตของโทมัส คือ
การหลบไปอยู่ตามลำพังทำให้ท่านพลาดโอกาสพบกับพระเยซูเจ้าคราวที่เสด็จมาหาบรรดาอัครสาวกครั้งแรก ดังนั้น หากเกิดความละอายใจไม่ว่าด้วยสาเหตุใดก็ตาม เราต้องไม่หลบหน้าจากผู้คนหรือ “ทิ้งวัด” ไปเลย หาไม่แล้วเราจะพลาดโอกาสดี ๆ ดังที่โทมัสเคยพลาดมาแล้ว
“วัด” อันเป็นสถานที่ชุมนุมของบรรดาคริสตชนนี่แหละ ที่เราจะได้พบกับพระเยซูเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพ !
ในหนังสือกิจการของโทมัส (The Acts of Thomas) มีเรื่องเล่าว่า แม้ไม่เต็มใจนัก แต่โทมัสก็ยอมไปประกาศข่าวดีที่อินเดียตามที่บรรดาอัครสาวกมอบหมาย พระราชาของอินเดียมีบัญชาให้ท่านสร้างพระราชวังให้พระองค์หลังหนึ่ง พร้อมกับมอบเงินจำนวนมากเพื่อเป็นค่าใช้จ่าย แต่ท่านกลับนำเงินทั้งหมดไปแจกจ่ายคนจน มิหนำซ้ำยังรายงานพระราชาว่าการก่อสร้างกำลังรุดหน้าไปเรื่อย ๆ ที่สุดพระราชาขอให้ท่านพาไปดูพระราชวังหลังใหม่ ท่านทูลว่า “ตอนนี้พระองค์ยังไม่อาจทอดพระเนตรเห็นได้ ต้องรอให้จากโลกนี้ไปก่อน จึงจะทรงเห็นได้” พระราชากริ้วมาก เกือบสั่งประหารชีวิตท่าน แต่เมื่อได้ฟังข่าวดีจากปากของท่านแล้ว พระองค์ทรงกลับใจและเชื่อในพระเยซูเจ้า
ด้วยการเสี่ยงนำชีวิตเข้าแลก โทมัสนำคริสตศาสนามาสู่อินเดีย !
5. เรื่องราวเหล่านี้ถูกบันทึกไว้เพื่อท่านทั้งหลายจะได้เชื่อ
วัตถุประสงค์ในการเขียนพระวรสารของยอห์น คือ
แสดงว่าวัตถุประสงค์อีกประการหนึ่งของท่านก็คือ ไม่ต้องการให้พระวรสารเป็นหนังสือประวัติศาสตร์หรืออัตชีวประวัติของพระเยซูเจ้า แต่เป็น “หนังสือเพื่อชีวิต” ที่มีจุดมุ่งหมายอยู่ที่ทำให้ผู้อ่านเห็น เข้าใจ และเชื่อว่าบุคคลที่สามารถพูด สอน และทำได้ดังเช่นพระองค์ จะเป็นใครอื่นไปไม่ได้นอกจาก “พระบุตรของพระเจ้า”
เมื่อเชื่อเช่นนี้แล้ว ผู้นั้นจะผูกพันตนเองเข้ากับพระเยซูเจ้า แล้วคิดเหมือนพระองค์ ปรารถนาเหมือนพระองค์ และดำเนินชีวิตเหมือนพระองค์ ซึ่งเป็น “ชีวิตนิรันดร” !
ด้วยเหตุนี้ วัตถุประสงค์ประการแรกสุดในการอ่านพระคัมภีร์จึงไม่ใช่การแสวงหาข้อมูล แต่เป็นการ แสวงหาพระเยซูเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพ !!!!
ด้วยเหตุนี้ วัตถุประสงค์ประการแรกสุดในการอ่านพระคัมภีร์จึงไม่ใช่การแสวงหาข้อมูล
แต่เป็นการ แสวงหาพระเยซูเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพ !!!!
“ทำอย่างไรคนที่ฉันรักและรักฉันจึงจะเข้าใจฉัน ?”
นี่เป็นคำถามที่อยู่ในใจของหลายคน คำถามนี้เกิดขึ้นกับใครย่อมเป็นทุกข์อย่างมาก แต่ก็คงน้อยกว่าคนที่เอาแต่ตัดพ้อว่า “ทำไมเขาไม่เข้าใจฉันเลย”
ผู้คนเป็นอันมากพยายามอย่างมากที่จะทำให้คนอื่นเข้าใจตน แต่ก็มักไม่ประสบผล สาเหตุเป็นเพราะส่วนใหญ่มักเรียกร้องจากคนอื่น แทนที่จะกลับมาเริ่มต้นที่ตนเอง นั่นคือ พยายามเข้าใจคนอื่นให้มาก
เป็นเพราะเราไม่เข้าใจคนอื่น เช่น มองเขาในแง่ลบ คลางแคลงสงสัยในความตั้งใจดีของเขา น้ำเสียงและอากัปกิริยาของเราที่แสดงออกไป จึงโน้มน้าวให้เขามองเราในลักษณะเดียวกัน การที่เขาไม่เข้าใจเราอาจเป็นเพราะเราเป็นฝ่ายไม่เข้าใจเขาก่อน
การกระทำของเขาอาจเป็นปฏิกิริยาตอบโต้การกระทำของเราก็ได้ พ่อแม่ที่บ่นว่าลูกไม่ฟังตนเองนั้น เมื่อสืบสาวสาเหตุก็พบว่า เป็นเพราะพ่อแม่ไม่ฟังลูกก่อน เอาแต่สั่งสอนหรือดุด่าว่ากล่าว โดยไม่ฟังเหตุผลหรือสอบถามความเห็นของลูกเลย เมื่อลูกโตขึ้น จึงเป็นฝ่ายไม่ฟังพ่อแม่บ้าง
มองในอีกแง่หนึ่ง เป็นไปได้หรือไม่ว่าที่จริงเขาเข้าใจเราดี เห็นความดีของเรา และชื่นชมเรา แต่เราต่างหากที่เข้าใจเขาผิด ตีความคำพูดและการกระทำของเขาในทางลบ จึงนึกว่าเขามองเราในแง่ร้าย
ดังนั้นแทนที่จะตัดพ้อหรือกล่าวโทษคนอื่น การกลับมามองตนและแก้ที่ตนเอง ด้วยการพยายามเข้าใจเขาให้มาก ๆ หรือมองเขาให้ถูกต้อง จะช่วยให้ปัญหาดังกล่าวหมดไปได้ไม่ยาก หรือไม่กลายเป็นปัญหาต่อไป
มีบางคนรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจในตนเองและไม่พอใจคนอื่น โดยเฉพาะคนที่ตนรักและเคารพ เพราะไม่ว่าตนจะทำดีอย่างไร ก็พบว่าเขาเหล่านั้นเห็นแต่ด้านที่ไม่ดีของตน ไม่เคยจดจำความดีของตนได้เลย เอาแต่ตำหนิติเตียนเวลาตนเองทำผิดพลาด แต่แน่ใจหรือว่าบุคคลเหล่านั้นเป็นอย่างที่เราคิด อันที่จริงเขาอาจเห็นความดีของเราและชื่นชมเรา อีกทั้งยังทำดีกับเราด้วย แต่เราต่างหากที่ไม่เห็นหรือจดจำเวลาเขาทำดีกับเรา ครั้นเขาทำไม่ดีกับเราหรือทำไม่ถูกใจเราในบางครั้ง เรากลับจดจำได้แม่น ไม่ใช่เขาหรอกที่เห็นแต่ด้านไม่ดีของเรา เป็นเราต่างหากที่เห็นแต่การกระทำด้านลบของเขา
ถ้าเราพยายามมองเขาให้รอบด้านมากขึ้น ก็อาจพบว่าเขามองเรารอบด้านเช่นกัน หากเรารับรู้ใส่ใจยามที่เขาทำดีกับเรา เราก็จะพบว่าเขาเห็นความดีของเราด้วย ไม่ใช่เห็นแต่ความไม่ดีของเรา ถึงตอนนั้นเสียงตัดพ้อในใจก็จะหายไป ไม่เพียงเรารู้สึกดีต่อเขามากขึ้นเท่านั้น หากยังจะรู้สึกดีต่อตัวเองมากขึ้นด้วย
ปัญหาทั้งหมดนี้ล้วนเกิดจากการมองแต่ข้างนอกจนลืมมองตน หรือคิดแต่จะแก้ที่คนอื่น จนลืมแก้ที่ตนเอง เมื่อใดที่เรากลับมาเริ่มต้นที่ตนเองก่อน แทนที่จะตัดพ้อว่า “ทำไมเขาไม่เข้าใจฉันเลย” หากลองถามใหม่ว่า “ฉันเข้าใจเขาดีแล้วหรือ” ก็อาจพบคำตอบหรือทางออกได้ในที่สุด
อย่าว่าแต่การพยายามเข้าใจคนอื่นเลย แม้แต่การเข้าใจตนเอง ผู้คนส่วนใหญ่ก็มักมองข้าม มัวแต่เสาะแสวงหาคนที่รู้ใจตน อยากได้เพื่อนที่รู้ใจตน คู่ครองที่รู้ใจตน ลูกน้องที่รู้ใจตน ฯลฯ แต่กลับละเลยที่จะรู้ใจตนเอง เมื่อความโกรธเกลียดเกิดขึ้นก็ไม่รู้ทัน ปล่อยให้ความทุกข์เล่นงานจิตใจ หากใจของเรา เราเองยังไม่รู้ จะหวังให้คนอื่นมารู้ใจเราได้อย่างไร
จะว่าไปแล้วที่ผู้คนทุกข์ระทมทุกวันนี้ก็เพราะไม่รู้ใจตนมากกว่า
หาใช่เป็นเพราะไร้คนรู้ใจหรือเข้าใจตนไม่
บทความโดย รินใจ