ลก 2:41-52
41โยเซฟพร้อมกับพระมารดาของพระเยซูเจ้าเคยขึ้นไปยังกรุงเยรูซาเล็มในเทศกาลปัสกาทุกปี 42เมื่อพระองค์มีพระชนมายุสิบสองพรรษา โยเซฟพร้อมกับพระมารดาก็ขึ้นไปกรุงเยรูซาเล็มตามธรรมเนียมของเทศกาลนั้น 43เมื่อวันฉลองสิ้นสุดลง ทุกคนก็เดินทางกลับ แต่พระเยซูเจ้ายังประทับอยู่ที่กรุงเยรูซาเล็มโดยที่บิดามารดาไม่รู้ 44เพราะคิดว่า พระองค์ทรงอยู่ในหมู่ผู้ร่วมเดินทาง เมื่อเดินทางไปได้หนึ่งวันแล้ว โยเซฟพร้อมกับพระนางมารีย์ตามหาพระองค์ในหมู่ญาติและคนรู้จัก 45เมื่อไม่พบจึงกลับไปกรุงเยรูซาเล็ม เพื่อตามหาพระองค์ที่นั่น 46ในวันที่สามโยเซฟพร้อมกับพระนางมารีย์พบพระองค์ในพระวิหารประทับนั่งอยู่ในหมู่อาจารย์ ทรงฟังและทรงไต่ถามพวกเขา 47ทุกคนที่ได้ฟังพระองค์ต่างประหลาดใจในพระปรีชาที่ทรงแสดงในการตอบคำถาม 48เมื่อโยเซฟพร้อมกับพระนางมารีย์เห็นพระองค์ก็รู้สึกแปลกใจ พระมารดาจึงตรัสถามพระองค์ว่า “ลูกเอ๋ย ทำไมจึงทำกับเราเช่นนี้ ดูซิ พ่อกับแม่ต้องกังวลใจตามหาลูก” 49พระองค์ตรัสตอบว่า “พ่อกับแม่ตามหาลูกทำไม พ่อแม่ไม่รู้หรือว่า ลูกต้องอยู่ในบ้านของพระบิดาของลูก” 50โยเซฟพร้อมกับพระนางมารีย์ไม่เข้าใจที่พระองค์ตรัส
51พระเยซูเจ้าเสด็จกลับไปที่เมืองนาซาเร็ธกับบิดามารดาและเชื่อฟังท่านทั้งสอง พระมารดาทรงเก็บเรื่องทั้งหมดเหล่านี้ไว้ในพระทัย 52พระเยซูเจ้าทรงเจริญขึ้นทั้งในพระปรีชาญาณ พระชนมายุ และพระหรรษทานเฉพาะพระพักตร์ของพระเจ้าและต่อหน้ามนุษย์
เป็นความใฝ่ฝันของชาวยิวทุกคนไม่ว่าจะอาศัยอยู่ ณ ส่วนใดของโลกที่จะไปร่วมเฉลิมฉลองปัสกาที่พระวิหารในกรุงเยรูซาเล็มอย่างน้อยครั้งหนึ่งในชีวิต ส่วนชาวยิวที่อาศัยอยู่ภายในรัศมี 24 กิโลเมตรจากกรุงเยรูซาเล็ม กฎหมายบังคับให้ไปร่วมฉลองปัสกาที่พระวิหารทุกปี
ชาวยิวถือว่าเด็กเป็นผู้ใหญ่เต็มตัวเมื่ออายุครบ 12 ปีบริบูรณ์ และเมื่อเป็นผู้ใหญ่เขาจะได้ชื่อว่าเป็น “บุตรของกฎหมาย” นั่นคือต้องปฏิบัติตามข้อบังคับของกฎหมายทุกประการ เพราะฉะนั้น เมื่อพระเยซูเจ้าทรงมีพระชนมายุ 12 พรรษา พระองค์จึงเสด็จไปกรุงเยรูซาเล็มร่วมกับโยเซฟและพระมารดาเพื่อร่วมฉลองเทศกาลปัสกาประจำปี
นี่คือปัสกาครั้งแรกของพระองค์ที่พระวิหารในนครศักดิ์สิทธิ์ !
ซึ่งก็ทำให้หัวอกของผู้เป็นพ่อแม่แทบแตกสลายเพราะ “เมื่อวันฉลองสิ้นสุดลง ทุกคนก็เดินทางกลับ แต่พระเยซูเจ้ายังประทับอยู่ที่กรุงเยรูซาเล็มโดยที่บิดามารดาไม่รู้” (ลก 2:43)
งานนี้จะกล่าวโทษโยเซฟและพระแม่มารีย์ว่าไม่เอาใจใส่เลี้ยงดูบุตรก็ไม่ได้ เพราะปกติเวลาเดินทางเป็นกองคาราวาน ชาวยิวจะให้ผู้หญิงออกเดินทางล่วงหน้าไปก่อน แล้วให้ผู้ชายซึ่งเดินทางได้เร็วกว่าตามไปภายหลัง
เมื่อถึงเวลาตั้งกระโจมที่พักในตอนเย็นนั่นแหละ ทั้งสองฝ่ายจึงจะมีโอกาสพบปะกัน !
ไม่ต้องสงสัยเลยว่า โยเซฟจะต้องคิดว่าพระเยซูเจ้าอยู่กับพระแม่มารีย์ และพระแม่มารีย์ก็คิดว่าพระองค์อยู่กับโยเซฟ
ที่ทั้งสองต่างก็คิดเช่นนี้ เป็นเพราะว่าพระเยซูเจ้ากำลังอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนผ่านจากวัยเด็กเป็นผู้ใหญ่ หากเป็นเด็กก็ต้องออกเดินทางล่วงหน้าพร้อมกับผู้หญิง หากเป็นผู้ใหญ่ก็ต้องเดินทางตามไปพร้อมกับผู้ชาย
เมื่อความจริงปรากฏในตอนเย็นว่า “ลูกหาย” ทั้งสองจึง “ตามหาพระองค์ในหมู่ญาติและคนรู้จัก” (ลก 2:44)
“เมื่อไม่พบจึงกลับไปกรุงเยรูซาเล็ม เพื่อตามหาพระองค์ที่นั่น” (ลก 2:45)
จนกระทั่ง “ในวันที่สาม โยเซฟพร้อมกับพระนางมารีย์จึงพบพระองค์ในพระวิหารประทับนั่งอยู่ในหมู่อาจารย์ ทรงฟังและทรงไต่ถามพวกเขา” (ลก 2:46)
สภาสูงของชาวยิวที่เรียกกันว่า ซันเฮดริน (Sanhedrin) มีธรรมเนียมจัดให้บรรดา “อาจารย์” ได้พบปะกันในพระวิหารระหว่างเทศกาลปัสกาของทุกปี เพื่อสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้านศาสนาและเทววิทยาซึ่งกันและกัน โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนผู้สนใจเข้ารับฟังด้วย
พระเยซูเจ้า คือ หนึ่งในบรรดาผู้สนใจฟังเรื่องศาสนาและเทววิทยา !
คำว่า “ทรงฟังและทรงไต่ถามพวกเขา” เป็นสำนวนพูดของชาวยิวหมายถึง “เรียน” ซึ่งแสดงว่าพระองค์ทรงสนพระทัยแสวงหาความรู้เยี่ยงนักเรียนผู้ขยันขันแข็งมากคนหนึ่ง โดยไม่ทรงอวดดี อวดเก่ง หรือถือตนว่าเป็นบุตรของพระเจ้าแต่ประการใด !!!
เราอาจสรุปบทเรียนจากครอบครัวศักดิ์สิทธิ์อันประกอบด้วย โยเซฟ พระนางมารีย์ และพระกุมารเจ้า ได้ดังนี้
จากเมืองนาซาเร็ธในแคว้นกาลิลีทางเหนือถึงกรุงเยรูซาเล็มใน แค้วนยูเดียทางใต้มีระยะทางประมาณ 130 กิโลเมตร ซึ่งเกินกว่าระยะทาง 24 กิโลเมตรที่กฎหมายบังคับให้ต้องไปร่วมฉลองปัสกาที่พระวิหาร
แม้ไม่ถูกบังคับโดยกฎหมาย แต่ทั้งโยเซฟและพระแม่มารีย์ก็ไปร่วมฉลองปัสกาที่กรุงเยรูซาเล็มทุกปี (ลก 2:41) และเมื่อพระเยซูเจ้าทรงมีพระชนมายุครบ 12 พรรษา สมาชิกครอบครัวศักดิ์สิทธิ์ทุกคนต่างก็ไปร่วมพิธีด้วย
การเดินทางไปกลับกรุงเยรูซาเล็มต้องใช้เวลาหลายวัน อีกทั้งพิธีกรรมที่พระวิหารเองก็ต้องใช้เวลาอีก 2-7 วันขึ้นอยู่กับความสมัครใจ โดยกฎหมายบังคับเฉพาะ 2 วันแรก
ไหนครอบครัวจะยากจน มีเพียงร้านช่างไม้เล็ก ๆ เป็นสมบัติ…
ไหนจะขาดรายได้เพราะต้องปิดร้าน…
ไหนจะต้องเสียค่าใช้จ่ายมากมายระหว่างเดินทางและประกอบพิธีกรรม…
แต่ ครอบครัวศักดิ์สิทธิ์ก็ยังยึดมั่นในเรื่องของศาสนาและจิตใจมากกว่าเรื่องธุรกิจทางโลก
สำหรับครอบครัวศักดิ์สิทธิ์แล้ว ไม่มีสิ่งใดสำคัญไปกว่าพระเจ้า !
หัวใจสำคัญของพระวรสารวันนี้อยู่ที่คำตอบของพระเยซูเจ้าที่ว่า “พ่อกับแม่ตามหาลูกทำไม พ่อแม่ไม่รู้หรือว่า ลูกต้องอยู่ในบ้านของพระบิดาของลูก” (ลก 2:49)
คำตอบนี้อ่อนโยน แต่เฉียบขาดอย่างยิ่ง !
พระเยซูเจ้าทรงนำความเป็น “พ่อ” ไปจากโยเซฟ แล้วทรงมอบความเป็นพ่อนี้แด่ “พระบิดา”
ตลอดเวลา 12 ปี ภายใต้การ “ส่งเสริม” ของโยเซฟและพระแม่มารีย์ พระกุมาร “ทรงเจริญขึ้นทั้งในพระปรีชาญาณ พระชนมายุ และพระหรรษทานเฉพาะพระพักตร์ของพระเจ้าและต่อหน้ามนุษย์” (ลก 2:52)
จนกระทั้งสามารถ “ค้นพบตนเอง” ในโอกาสเฉลิมฉลองปัสกาครั้งแรกที่กรุงเยรูซาเล็มว่าทรงเป็น “พระบุตรของพระเจ้า” !!!
นอกจากพ่อแม่ “ส่งเสริม” แล้ว ลูกก็ “ร่วมมือ” อย่างดีด้วย….
ไม่มีทางปฏิเสธเลยว่า พระกุมารทรงเป็นแบบอย่างที่ดีที่สุดของการ “ร่วมมือ” กับพ่อแม่ในการพัฒนาตนเองจน “ค้นพบตัวตนที่แท้จริง”
ทรงเป็นแบบอย่างที่เยาวชนและวัยรุ่นทุกคนไม่อาจไม่เจริญรอยตามได้ !
นั่นคือ เราต้องไม่แข่งขันกัน “นำสมัย” หรือ “ตามกระแส” ซึ่งไม่เคยนำความสุขใจมาสู่ผู้ใด มีแต่จะทำให้สิ้นเปลือง วุ่นวายใจ และก่อให้เกิดปัญหาติดตามมาอีกไม่รู้จักจบสิ้น !..
แต่เราต้องแข่งขันกันพัฒนาสติปัญญาและจิตใจ ดุจเดียวกับพระกุมารที่ทรง “ประทับนั่งอยู่ในหมู่อาจารย์ ทรงฟังและทรงไต่ถามพวกเขา” (ลก 2:46)
เรามาแข่งขันกันทำให้พ่อแม่และทุกคนที่พบเห็นพากัน “ประหลาดใจ” ในความสามารถเช่นเดียวกับพระกุมารไม่ดีกว่าหรือ !?!?! (เทียบ ลก 2:47)
หลังจากค้นพบว่าทรงเป็น “พระบุตรของพระเจ้า” และทรงทำให้ทุกคน “ประหลาดใจในพระปรีชาที่ทรงแสดงในการตอบคำถาม” (ลก 2:47) แล้ว
แทนที่พระกุมารจะแสดงอาการเย่อหยิ่ง หรือดูหมิ่นดูแคลนแม่มารีย์ผู้อ่อนโยน และพ่อโยเซฟผู้ตรากตรำงานหนัก พระองค์กลับนบนอบและ “เชื่อฟังท่านทั้งสอง” (ลก 2:51)
พูดง่าย ๆ ก็คือพระองค์ทรง “ยอมรับ” บิดาและมารดาของพระองค์ !
ส่วนบิดาและมารดาของพระองค์แม้จะ “ไม่เข้าใจ” แต่ก็ “ทรงเก็บเรื่องทั้งหมดไว้ในพระทัย” (ลก 2:50-51)
ทุกฝ่ายต่าง “ยอมรับซึ่งกันและกัน” !