• มธ 16:13-19 •
13พระเยซูเจ้าเสด็จมาถึงเขตเมืองซีซารียาแห่งฟิลิปและตรัสถามบรรดาศิษย์ว่า “คนทั้งหลายกล่าวว่าบุตรแห่งมนุษย์เป็นใคร” 14เขาทูลตอบว่า “บ้างกล่าวว่าเป็นยอห์นผู้ทำพิธีล้าง บ้างกล่าวว่าเป็นประกาศกเอลียาห์ บ้างกล่าวว่าเป็นประกาศกเยเรมีย์หรือประกาศกองค์ใดองค์หนึ่ง” 15พระองค์ตรัสกับเขาว่า “ท่านล่ะคิดว่าเราเป็นใคร” 16ซีโมน เปโตรทูลตอบว่า “พระองค์คือพระคริสตเจ้า พระบุตรของพระเจ้าผู้ทรงชีวิต” 17พระเยซูเจ้าตรัสตอบเขาว่า “ซีโมน บุตรของยอห์น ท่านเป็นสุขเพราะไม่ใช่มนุษย์ที่เปิดเผยให้ท่านรู้ แต่พระบิดาเจ้าของเราผู้สถิตในสวรรค์ทรงเปิดเผย 18เราบอกท่านว่า ท่านคือศิลาและบนศิลานี้ เราจะตั้งพระศาสนจักรของเรา ประตูนรกจะไม่มีวันชนะพระศาสนจักรได้ 19เราจะมอบกุญแจอาณาจักรสวรรค์ให้ ทุกสิ่งที่ท่านจะผูกบนแผ่นดินนี้ จะผูกไว้ในสวรรค์ด้วย ทุกสิ่งที่ท่านจะแก้ในแผ่นดินนี้ ก็จะแก้ในสวรรค์ด้วย”
1. ท่านล่ะคิดว่าเราเป็นใคร
เมืองซีซารียาแห่งฟิลิปเดิมชื่อเมืองพานิอัส (Panias) อยู่ห่างจากทะเลสาบกาลิลีไปทางตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 40 กิโลเมตร พ้นเขตปกครองของกษัตริย์เฮโรด อันติพาส ประชากรส่วนใหญ่ไม่ใช่ชาวยิว พระเยซูเจ้าจึงมีเวลาอยู่กับบรรดาอัครสาวกตามลำพัง
ที่เมืองพานิอัส เฮโรดมหาราช ผู้เป็นพระราชบิดา ได้ทรงสร้างวิหารใหญ่ ทำด้วยหินอ่อนสีขาวเพื่อถวายแด่ซีซาร์ซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งโรม ต่อมา ฟิลิปบุตรชายได้ต่อเติมและประดับประดาวิหารนี้ให้สวยตระการตายิ่งขึ้นไปอีก แล้วเปลี่ยนชื่อเมืองจากพานิอัสมาเป็นซีซารียาซึ่งแปลว่าเมืองของซีซาร์ และเพิ่มชื่อของตนคือฟิลิปต่อท้ายเข้าไปด้วย เพื่อให้แตกต่างจากเมืองซีซารียาอีกแห่งหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน
ณ เมืองซีซารียาแห่งฟิลิปซึ่งมีวิหารยิ่งใหญ่ตระการตาถวายแด่ซีซาร์ผู้เกรียงไกรตั้งตระหง่านอยู่เบื้องหน้านี้เอง ที่ช่างไม้ชาวกาลิลีผู้ไร้บ้าน ไร้เงินทอง ไร้อนาคตเพราะถูกกล่าวหาว่าสอนผิดความเชื่อจนต้องนับเวลาถอยหลังรอความตาย กำลังตั้งคำถามกับบรรดาศิษย์ของตนว่า “คนทั้งหลายกล่าวว่าบุตรแห่งมนุษย์เป็นใคร” (มธ 16:13)
ถ้าพระองค์ไม่ใช่พระเจ้าจริงก็คงไม่กล้าตั้งคำถามแบบนี้ ที่นี่ และเวลาอย่างนี้แน่
คำตอบที่ได้ คือ “บ้างกล่าวว่าเป็นยอห์นผู้ทำพิธีล้าง” (มธ 16:14)
ยอห์น คือ ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดในยุคนั้น จนกษัตริย์เฮโรดผู้ทรงสั่งให้ตัดศีรษะของท่านยังหวาดระแวงว่าพระเยซูเจ้าอาจเป็น “ยอห์นผู้ทำพิธีล้างที่กลับคืนชีพจากบรรดาผู้ตาย” (มธ 14:2)
“บ้างกล่าวว่าเป็นประกาศกเอลียาห์” (มธ 16:14)
ชาวยิวถือว่าเอลียาห์คือประกาศกยิ่งใหญ่ที่สุด ท่านจะกลับมาเพื่อเตรียมทางให้แก่พระเมสสิยาห์ (มลค 4:5) ทุกวันนี้ ขณะกินเลี้ยงปัสกา ชาวยิวยังเตรียมเก้าอี้ว่างไว้สำหรับท่าน โดยหวังว่าท่านยิ่งกลับมาเร็วเท่าใด พระเมสสิยาห์ก็จะยิ่งเสด็จมาเร็วเท่านั้น
“บ้างกล่าวว่าเป็นประกาศกเยเรมีย์” (มธ 16:14)
ชาวยิวเชื่อกันว่าก่อนบรรพบุรุษของพวกตนจะถูกกวาดต้อนไปกรุงบาบิโลน เยเรมีย์ได้นำกระโจมนัดพบ หีบพันธสัญญา และพระแท่นเผากำยานออกจากพระวิหารไปซ่อนไว้ในถ้ำแห่งหนึ่งแถบภูเขาเนโบ และจะนำกลับมาประดิษฐานไว้ก่อนพระเมสสิยาห์จะเสด็จมาเพื่อให้พระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้ากลับมาอยู่ท่ามกลางประชากรอีกครั้งหนึ่ง (2 มคบ 2:1-12)
เมื่อประชาชนคิดว่าพระเยซูเจ้าคือยอห์นผู้ทำพิธีล้าง หรือประกาศกเอลียาห์ หรือประกาศกเยเรมีย์ จึงเท่ากับว่า พวกเขายกพระองค์ไว้ ณ จุดสูงสุดเท่าที่มนุษย์คนหนึ่งพึงได้รับ เพราะท่านเหล่านี้ล้วนเป็นผู้เตรียมทางให้แก่พระเมสสิยาห์ผู้เป็นพระบุตรของพระเจ้า
ทว่าสิ่งที่คนอื่นพูดถึงพระองค์มีหรือจะสำคัญเทียบเท่าความเชื่อของตนเอง พระองค์จึงตรัสถามบรรดาอัครสาวกว่า “ท่านล่ะคิดว่าเราเป็นใคร” (มธ 16:15)
เปโตรทูลตอบว่า “พระองค์คือพระคริสตเจ้า พระบุตรของพระเจ้าผู้ทรงชีวิต” (มธ 16:16)
คำตอบของเปโตรคงช่วยให้พระเยซูเจ้าใจชื้นขึ้นเป็นกอง เพราะอย่างน้อยก็ยังมีคนหนึ่งที่รับรู้ว่าพระองค์เป็นใครและเป็นอะไร
คำว่า “พระคริสตเจ้า” เป็นภาษากรีก ส่วน “พระเมสสิยาห์” เป็นภาษาฮีบรู ทั้งสองคำมีความหมายเดียวกันคือ “ผู้ที่ได้รับการเจิม”
เพราะฉะนั้น หากจะถามว่าพระเยซูเจ้าเป็นใคร คำตอบแบบเปโตรก็คือ “พระบุตรของพระเจ้าผู้ทรงชีวิต” และถ้าจะถามว่าพระองค์เป็นอะไร คำตอบก็คือ “ผู้ที่พระเจ้าทรงเจิมไว้ให้เป็นกษัตริย์ เพื่อกอบกู้มวลมนุษย์ให้รอดพ้นจากความตายฝ่ายวิญญาณ”
จากเหตุการณ์ที่เมืองซีซารียาแห่งฟิลิป เราอาจสรุปแนวทางในการดำเนินชีวิตได้สองประการ กล่าวคือ
ด้วยเหตุนี้ พระเยซูเจ้าจึงตรัสว่า “ซีโมน บุตรของยอห์น ท่านเป็นสุขเพราะไม่ใช่มนุษย์ที่เปิดเผยให้ท่านรู้ แต่พระบิดาเจ้าของเราผู้สถิตในสวรรค์ทรงเปิดเผย” (มธ 16:17)
พูดง่าย ๆ ก็คือ เป็นพระบิดาที่ทรงเปิดเผยให้เปโตรรู้จักพระเยซูเจ้า
ดังนั้น เราจึงต้องหมั่นวอนขอพระบิดาเจ้า โปรดให้เรารู้จักพระเยซูเจ้ามากขึ้น จะได้รักและดำเนินชีวิตตามแบบอย่างของพระองค์ยิ่งขึ้น
เราอาจเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านพระคัมภีร์ เทววิทยา หรือคำสอน แต่ตราบใดที่เรายังไม่สามารถค้นพบและรู้จักพระองค์ด้วยตัวของเราเอง ตราบนั้นความรู้ที่ร่ำเรียนมาก็ยังคงเป็นเพียงความรู้มือสองที่ช่วยให้เรา “รู้เกี่ยวกับ” พระเยซูเจ้าเท่านั้น แต่ยังไม่ “รู้จัก” พระองค์ !
2. ท่านคือศิลาและบนศิลานี้ เราจะตั้งพระศาสนจักรของเรา
ที่มาของพระวาจานี้คือ “ท่านคือ ‘เปตรอส’ และบน ‘เปตรา’ นี้ เราจะตั้งพระศาสนจักรของเรา” (มธ 16:18)
คำกรีก “เปตรอส” (Petros) คือ “เปโตร” เป็นชื่อเฉพาะ ไม่มีคำแปล ส่วน “เปตรา” (petra) แปลว่า “ศิลา”
หากแปลตามต้นฉบับภาษากรีกจะได้ความว่า “ท่านคือเปโตร และบนศิลานี้ เราจะตั้งพระศาสนจักรของเรา”
ซึ่งสอดคล้องกับความเชื่อของชาวยิวซึ่งถือว่า “ศิลา” คือองค์พระผู้เป็นเจ้าเอง
ส่วนในพระธรรมใหม่ “ศิลา” คือ องค์พระเยซูเจ้าเอง
จากพระคัมภีร์ที่ยกมาแสดงว่า พระเยซูคริสตเจ้าทรงเป็น “ศิลาหัวมุม” และทรงเป็นรากฐานแท้จริงของพระศาสนจักร หากปราศจากพระองค์ พระศาสนจักรย่อมไม่อาจตั้งอยู่ได้
แต่ด้วยเจตนาเล่นคำ ชื่อของ “เปโตร” ในภาษากรีกจึงถูกแปลตามชื่อ “เคฟาส” (Kephas) ในภาษาอาราเมอิกซึ่งบังเอิญหมายถึง “ศิลา” เราจึงได้สำนวนแปลว่า “ท่านคือศิลาและบนศิลานี้ เราจะตั้งพระศาสนจักรของเรา” (มธ 16:18)
ใช่ เปโตรคือ “ศิลา” แต่ไม่ใช่ “ศิลาหัวมุม”
ท่านคือ “ศิลาแรก” ของพระศาสนาจักรซึ่งพระองค์กำลังสถาปนาขึ้น เพราะว่าท่านเป็น “มนุษย์คนแรก” ที่รู้และเชื่อว่าพระเยซูเจ้าคือพระคริสตเจ้า ผู้เป็นบุตรของพระเจ้าผู้ทรงชีวิต (มธ 16:16)
ด้วยเหตุที่เปโตรเป็นสมาชิกคนแรกของพระศาสนจักร ท่านจึงเป็นรากฐานและเป็นเสมือนเชื้อแป้งที่ทำให้มีสมาชิกคนอื่นตามมาอีกมากมายทุกยุคทุกสมัย
ส่วนผู้ก่อตั้งและเป็น “ศิลาหัวมุม” ของพระศาสนจักรคือองค์พระเยซูคริสตเจ้าเอง !
เพราะฉะนั้น หากเรารักนักบุญเปโตรผู้เป็นศิลาแรกมากเท่าใด เรายิ่งต้องรักพระเยซูเจ้าผู้ทรงเป็นศิลาหัวมุมมากขึ้นเท่านั้น
3. ประตูนรกจะไม่มีวันชนะพระศาสนจักรได้
เราอาจเข้าใจความหมายของ “ประตูนรกจะไม่มีวันชนะพระศาสนจักรได้” (มธ 16:18) ได้ดังนี้
“ประตู” มีไว้เพื่อ ปิด ควบคุม กักขัง จำกัดเขต
“นรก” ตรงกับภาษากรีก “ades” (อาเดส) และภาษาอังกฤษ “Hades” (เฮดีส) ซึ่งมีความหมายตามตัวอักษรคือ “สถานที่ที่มองไม่เห็น” เดิมชาวยิวเชื่อว่าคนตายทุกคนไม่ว่าดีหรือเลวจะไปรวมกันอยู่ในสถานที่ที่มองไม่เห็นนี้ คำ “เฮดีส” แรกเริ่มจึงหมายถึงแดนผู้ตาย แต่ต่อมาพัฒนาเป็นสถานที่สำหรับคนบาปพักรอการตัดสิน และหมายถึงนรกในที่สุด
เมื่อพระเยซูเจ้าตรัสว่า “ประตูนรกจะไม่มีวันชนะพระศาสนจักรได้” จึงหมายความว่า “ประตูแห่งแดนผู้ตายจะไม่มีทางปิดขังคนคนหนึ่งซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งพระศาสนจักรได้เลย”
เพราะคนคนนั้น “คือพระคริสตเจ้า พระบุตรของพระเจ้าผู้ทรงชีวิต” (มธ 16:16)
พระองค์ทรงกล่าวเช่นนี้ก็เพื่อทำนายถึงการสิ้นพระชนม์และการกลับคืนพระชนมชีพของพระองค์เอง และเปโตรได้ประกาศยืนยันความจริงนี้ในวันเปนเตกอสเตว่า “พระเจ้าทรงบันดาลให้พระองค์กลับคืนพระชนมชีพ พ้นจากอำนาจแห่งความตาย เพราะความตายยึดพระองค์ไว้ใต้อำนาจอีกต่อไปไม่ได้” และอีกตอนหนึ่งว่า “เพราะพระองค์จะไม่ทรงละทิ้งข้าพเจ้า (คือพระเยซูเจ้า) ไว้ในแดนผู้ตาย และจะไม่ทรงปล่อยผู้ศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์ให้เน่าเปื่อย” (กจ 2:24,27)
นอกจากเป็นการทำนายถึงการกลับคืนพระชนมชีพแล้ว เราอาจเข้าใจความหมายอีกนัยหนึ่งว่า ประตูนรกคืออำนาจแห่งความชั่วร้าย ซึ่งไม่มีทางจะเอาชนะหรือทำลายพระศาสนจักรของพระเยซูคริสตเจ้าได้เลย
4. สิทธิและหน้าที่ของพระศาสนจักร
เพื่อให้พระศาสนจักรบนความเชื่อของเปโตรมีความมั่นคง พระเยซูเจ้าจึงทรงมอบสิทธิและหน้าที่พิเศษให้แก่ท่านอีกด้วย
ในพระธรรมใหม่ ผู้ถือกุญแจคือพระเยซูเจ้าเอง “เราเป็นผู้มีชีวิต เราตายไปแล้ว แต่บัดนี้เรามีชีวิตอยู่ตลอดนิรันดร เรามีอำนาจ (ต้นฉบับภาษากรีก คือ kleis แปลว่า “กุญแจ”) เหนือความตายและเหนือแดนผู้ตาย” (วว 1:18)
และ “พระองค์ผู้ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ทรงสัตย์ ผู้ทรงถือกุญแจของกษัตริย์ดาวิด เมื่อพระองค์ทรงเปิด ไม่มีผู้ใดปิดได้ และเมื่อพระองค์ทรงปิด ก็ไม่มีผู้ใดเปิดได้” (วว 3:7)
ข้อความหลังนี้ช่างคล้ายกับพระวาจาของพระเจ้าจอมโยธาที่มีถึงเอลียาคิมผ่านทางประกาศกอิสยาห์ว่า “เราจะวางกุญแจราชวังของกษัตริย์ดาวิดไว้บนบ่าของเขา ถ้าเขาเปิด จะไม่มีผู้ใดปิด ถ้าเขาปิด จะไม่มีผู้ใดเปิดได้” (อสย 22:22) นั่นคือ พระองค์ทรงตั้งเอลียาคิมให้เป็นผู้ดูแลพระราชวังของกษัตริย์ดาวิดแทนเชบนา มีอำนาจเต็มในการสั่งเปิดประตูพระราชวังในยามเช้า และปิดในยามเย็น
หมายความว่า พระเยซูเจ้าทรงมอบกุญแจอาณาจักรสวรรค์ของพระองค์แก่เปโตร เพื่อให้ท่านเป็นผู้ดูแลอาณาจักรสวรรค์และ “เปิดประตูต้อนรับคนทุกชาติ” ทั้งที่เป็นยิวและไม่ใช่ยิว
ดังที่ท่านได้เปิดประตูต้อนรับดวงวิญญาณสามพันดวงในวันเปนเตกอสเต (กจ 2:41) รวมถึงดวงวิญญาณของโครเนลิอัสซึ่งเป็นนายทหารต่างชาติ (กจ 10) อีกทั้งในการประชุมที่กรุงเยรูซาเล็ม ท่านได้ผลักดันให้ข่าวดีเผยแผ่ไปสู่คนต่างศาสนาด้วยการยืนยันว่า “พี่น้องทั้งหลาย ท่านรู้แล้วว่า ตั้งแต่แรกเริ่ม พระเจ้าทรงเลือกสรรข้าพเจ้าในหมู่ท่านทั้งหลาย เพื่อให้คนต่างศาสนาได้ฟังพระวาจาที่เป็นข่าวดีจากปากของข้าพเจ้าและมีความเชื่อ” (กจ 15:7)
คำว่า “ผูก” และ “แก้” เป็นสำนวนที่ชาวยิวนิยมใช้กับคำตัดสินด้านกฎหมายของอาจารย์หรือรับบีผู้มีชื่อเสียง ผูกหมายถึงไม่อนุญาต และแก้หมายถึงอนุญาต
เท่ากับว่าพระเยซูเจ้าทรงมอบภาระรับผิดชอบอันหนักหน่วงไว้บนบ่าของเปโตร ท่านต้องให้คำแนะนำและนำพาพระศาสนจักร ท่านต้อง “ตัดสินใจ” ว่าจะอนุญาตหรือไม่อนุญาต ซึ่งการตัดสินใจของท่านย่อมส่งผลอันใหญ่หลวงต่อวิญญาณของมนุษย์ทั้งในโลกนี้และในโลกหน้า
นี่คือความยิ่งใหญ่ของนักบุญเปโตร !
ส่วนนักบุญเปาโล ท่านกล่าวไว้ในบทอ่านที่สองของวันนี้ว่า “ชีวิตของข้าพเจ้ากำลังจะถูกถวายเป็นเครื่องบูชาอยู่แล้ว ถึงเวลาแล้วที่ข้าพเจ้าจะต้องจากไป” (2 ทธ 4:6)
แสดงว่าท่านไม่ได้คิดแม้แต่นิดเดียวว่าท่านกำลังจะถูกประหาร แต่กลับคิดว่าชีวิตของท่านกำลังจะได้รับการถวายเป็นเครื่องบูชาแด่พระเจ้า
อันที่จริง หลังจากกลับใจแล้ว ท่านได้ถวายทุกสิ่งทุกอย่างแด่พระเจ้า ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สินเงินทอง ความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมา เวลา พลังกาย พลังใจ หรือแม้แต่สติปัญญาอันเฉียบแหลมของท่าน ท่านก็ทูลถวายแด่พระองค์จนหมด
เหลือก็เพียงแต่ชีวิตของท่านซึ่งยังไม่ได้ถวายแด่พระเจ้า แต่ท่านก็พร้อมและเต็มใจที่จะถวายแด่พระองค์ด้วยความยินดี
ท่านจึงพูดได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่า “ข้าพเจ้าต่อสู้มาอย่างดีแล้ว ข้าพเจ้าวิ่งมาถึงเส้นชัยแล้ว ข้าพเจ้ารักษาความเชื่อไว้แล้ว ยังเหลืออยู่ก็เพียงมงกุฎแห่งความชอบธรรม ซึ่งองค์พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงพิพากษาอย่างเที่ยงธรรมจะประทานให้ข้าพเจ้าในวันนั้น” (2 ทธ 4:7-8)
และนี่คือความยิ่งใหญ่ของนักบุญเปาโล !
ทั้งนักบุญเปโตรและนักบุญเปาโลซึ่งเราร่วมใจกันสมโภชในวันนี้ เป็นผู้ยิ่งใหญ่ก็เพราะท่านทั้งสองเป็นผู้สืบสานภารกิจของพระเยซูคริสตเจ้า พระบุตรของพระเจ้าผู้ทรงชีวิต !