• ลก 12:13-21 •
13ประชาชนคนหนึ่งทูลพระเยซูเจ้าว่า “พระอาจารย์ โปรดบอกพี่ชายข้าพเจ้าให้แบ่งมรดกให้ข้าพเจ้าเถิด” 14พระองค์จึงตรัสกับเขาว่า “มนุษย์เอ๋ย ใครตั้งเราเป็นผู้พิพากษาหรือเป็นผู้แบ่งมรดกของท่าน” 15แล้วพระองค์ตรัสกับคนเหล่านั้นว่า “จงระวังและรักษาตัวไว้ให้พ้นจากความโลภทุกชนิด เพราะชีวิตของคนเราไม่ขึ้นกับทรัพย์สมบัติของเขา แม้ว่าเขาจะมั่งมีมากเพียงใดก็ตาม”
16พระองค์ยังตรัสอุปมาเรื่องหนึ่งให้เขาทั้งหลายฟังอีกว่า “เศรษฐีคนหนึ่งมีที่ดินที่เกิดผลดีอย่างมาก 17เขาจึงคิดว่า ‘ฉันจะทำอย่างไรดี ฉันไม่มีที่พอจะเก็บพืชผลของฉัน’ 18เขาคิดอีกว่า ‘ฉันจะทำอย่างนี้ จะรื้อยุ้งฉางเก่าแล้วสร้างใหม่ให้ใหญ่โตกว่าเดิม จะได้เก็บข้าวและสมบัติทั้งหมดไว้ 19แล้วฉันจะพูดกับตนเองว่า ดีแล้ว เจ้ามีทรัพย์สมบัติมากมายเก็บไว้ใช้ได้หลายปี จงพักผ่อน กินดื่มและสนุกสนานเถิด’ 20แต่พระเจ้าตรัสกับเขาว่า ‘คนโง่เอ๋ย คืนนี้ เขาจะเรียกเอาชีวิตเจ้าไป แล้วสิ่งที่เจ้าได้เตรียมไว้จะเป็นของใครเล่า’ 21คนที่สะสมทรัพย์สมบัติไว้สำหรับตนเองแต่ไม่เป็นคนมั่งมีสำหรับพระเจ้า ก็จะเป็นเช่นนี้”
เป็นประเพณีของชาวยิวที่จะนำปัญหาหรือข้อขัดแย้งไปให้รับบีเป็นผู้ตัดสิน น้องผู้ขัดแย้งกับพี่ชายเรื่องมรดกจึงนำปัญหาของตนมาให้พระเยซูเจ้าตัดสินชี้ขาด แต่พระองค์ทรงปฏิเสธที่จะเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับความขัดแย้งเรื่องทรัพย์สมบัติ ทรงตรัสว่า “มนุษย์เอ๋ย ใครตั้งเราเป็นผู้พิพากษาหรือเป็นผู้แบ่งมรดกของท่าน” (ลก 12:14) เพราะ “ชีวิตของคนเราไม่ขึ้นกับทรัพย์สมบัติ” (ลก 12:15)
พร้อมกันนั้นทรงยกอุปมาเรื่อง “เศรษฐีโง่” ขึ้นมา เพื่อชี้ให้เห็นทัศนคติที่คริสตชนพึงมีต่อ “ทรัพย์สมบัติและสิ่งของของโลกนี้”
จะเห็นว่าไม่มีตอนใดเลยในอุปมาที่พระองค์ทรงตำหนิติเตียน ที่ดิน พืชผล ข้าว ยุ้งฉาง หรือ ทรัพย์สมบัติมากมายของเศรษฐี แต่เป็น “ตัวเศรษฐี” นั่นเองที่พระองค์ทรงตำหนิว่า “คนโง่เอ๋ย” (ลก 12:20)
เท่ากับว่าตามทัศนะของพระเยซูเจ้า ทรัพย์สมบัติไม่ใช่สิ่งชั่วร้าย แต่สิ่งที่ชั่วร้าย คือ ผู้ที่ใช้ทรัพย์สมบัติเยี่ยง “เศรษฐีโง่” ผู้นั้น !
คำถาม คือ
เศรษฐีใช้ทรัพย์สมบัติอย่างไรจึงถูกตำหนิว่าโง่ ???
ไม่มีอุปมาเรื่องใดจะมีคำว่า “ฉัน” หรือ “ของฉัน” มากเท่าอุปมาเรื่องเศรษฐีโง่นี้ เมื่อที่ดินของเขาให้ผลผลิตดีมาก เขาจึงคิดว่า
“ฉันจะทำอย่างไรดี ฉันไม่มีที่พอจะเก็บพืชผลของฉัน”
(ลก 12:17)
“ฉันจะทำอย่างนี้ จะรื้อยุ้งฉางเก่าแล้วสร้างใหม่ให้ใหญ่โตกว่าเดิม จะได้เก็บข้าวและสมบัติทั้งหมดไว้”
(ลก 12:18)
แล้ว ฉัน จะพูดกับตนเองว่า
“ดีแล้ว เจ้า(ฉัน)มีทรัพย์สมบัติมากมายเก็บไว้ใช้ได้หลายปี (ฉัน)จงพักผ่อน กินดื่มและสนุกสนานเถิด”
(ลก 12:19)
ไม่มีคำอธิบายอื่นนอกจากว่าในหัวของเศรษฐีผู้นี้มีแต่ “ตัวเอง” เต็มไปหมด เขาไม่มี “คนอื่น” อยู่ในความรู้สึกนึกคิดหรือจิตใจของเขาเลย โลกของเขาแคบนิดเดียว ทิศเหนือของเขาติดต่อกับ “ตัวเอง” ทิศใต้ก็ติดกับ “ตัวเอง” ทิศตะวันออกและทิศตะวันตกก็ติดกับ “ตัวเอง” อีกเช่นกัน
ด้วยเหตุนี้ พระเยซูเจ้าจึงตรัสเตือนทุกคนว่า
“จงระวังและรักษาตัวไว้ให้พ้นจากความโลภทุกชนิด”
(ลก 12:15)
ซึ่งนักบุญเปาโลได้นำมาขยายความเพิ่มเติมว่า
“การรักเงินทองเป็นรากเหง้าของความชั่วทั้งหมด ความโลภเงินทองทำให้บางคนหลงไปจากความเชื่อ และตรอมตรมด้วยความทุกข์มากมาย”
(1 ทธ 6:10)
ชาวโรมันจึงมีภาษิตสอนใจบทหนึ่งว่า
“เงินทองเปรียบเหมือนน้ำทะเล ยิ่งดื่มมากก็ยิ่งกระหายมาก”
เพื่อดับความกระหาย พระเยซูเจ้าทรงสอนว่า
“ถ้าผู้ใดอยากตามเรา ก็จงเลิกคิดถึงตนเอง”
(มธ 16:24)
และ
“ท่านทำสิ่งใดต่อพี่น้องผู้ต่ำต้อยที่สุดของเราคนหนึ่ง ท่านก็ทำสิ่งนั้นต่อเรา”
(มธ 25:40)
นั่นคือ
จงคิดถึงตนเองให้น้อยลง แล้วคิดถึงคนอื่นให้มากขึ้น !
มีนักเทววิทยาชาวอังกฤษผู้หนึ่งนามว่า John Wesley (28 มิถุนายน 1703 – 2 มีนาคม 1791) เขามุ่งมั่นดำเนินชีวิตตามหนทางของพระเยซูเจ้าด้วยการประหยัดอย่างสุดความสามารถ เพื่อจะได้เหลือเงินไว้ “ให้” ผู้อื่นมากเท่าที่จะเป็นไปได้ เมื่อเริ่มต้นทำงานใหม่ ๆ เขามีรายได้ 30 ปอนด์ต่อปีจึงเก็บไว้ใช้ 28 ปอนด์ และเหลือไว้ให้ผู้อื่น 2 ปอนด์
ต่อมารายได้ของเขาเพิ่มขึ้นเป็น 60, 90 และ 120 ปอนด์ต่อปีตามลำดับ แต่เขายังคงเก็บเงินไว้ใช้จ่ายส่วนตัวปีละ 28 ปอนด์เท่าเดิมเพื่อจะได้ช่วยเหลือผู้ขัดสนมากขึ้น
ช่างแตกต่างกันเหลือเกินกับเศรษฐีโง่ ซึ่งแทนที่จะดำเนินชีวิตด้วยการสละตนเอง แล้วช่วยเหลือเกื้อกูลเพื่อนมนุษย์ที่ขัดสน เขากลับเดินสวนทางกับคำสอนของพระเยซูเจ้า ด้วยการยืนยันความเป็น “ตัวตน” หรือ “อัตตา” ของตนเองอย่างก้าวร้าวและน่าเกลียดที่สุด
นี่จึงเป็นเหตุผลประการแรกที่ทำให้พระเยซูเจ้าไม่ทรงตำหนิการมีทรัพย์สมบัติ แต่ทรงตำหนิ “ผู้ใช้” ทรัพย์สมบัติด้วย “ความโลภ” เพราะมันเป็นรากเหง้าของความชั่ว จนทำให้มองไม่เห็นหัวของเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเอง !!
สัปดาห์ที่แล้วที่บิวไปทำกายภาพแผนการของเขา คือ
“รื้อยุ้งฉางเก่าแล้วสร้างใหม่ให้ใหญ่โตกว่าเดิม จะได้เก็บข้าวและสมบัติทั้งหมดไว้ใช้ได้หลายปี เพื่อจะได้พักผ่อน กินดื่ม และสนุกสนาน”
(ลก 12:18-19)
เขาไม่ได้คิดหรือมองอะไรเกินเลยไปจากโลกนี้เลย ทั้งการพักผ่อน การกินดื่ม และการสนุกสนานไปวัน ๆ ล้วนแล้วแต่เป็นเป้าหมายเฉพาะในโลกนี้เท่านั้น
มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับการสนทนาระหว่างเด็กหนุ่มผู้กระตือรือร้นคนหนึ่ง
กับชายชราผู้ผ่านชีวิตมาอย่างโชกโชน ดังนี้
เด็กหนุ่ม “ผมจะเรียนวิชาชีพ”
ชายชรา “แล้วงัย ?”
เด็กหนุ่ม “ผมจะทำธุรกิจ”
ชายชรา “แล้วงัย ?”
เด็กหนุ่ม “ผมจะเสี่ยงโชค”
ชายชรา “แล้วงัย ?”
เด็กหนุ่ม “ผมจะเก็บเงินเยอะ ๆ ไว้ใช้ยามเกษียณและแก่ชรา”
ชายชรา “แล้วงัย ?”
เด็กหนุ่ม “สักวัน ผมคงต้องตาย”
ชายชรา “แล้วงัย ?”
เด็กหนุ่มไม่มีคำตอบ….!!
ความคิดของเด็กหนุ่มสะท้อนให้เห็นความคิดของเศรษฐีโง่ได้เป็นอย่างดี เขาวางแผนและเตรียมการทุกอย่างสำหรับโลกนี้ แต่ลืมคิดไปว่ายังมีอีกโลกหนึ่งรอคอยเขาอยู่
ความโลภอันเป็นรากเหง้าของความชั่ว ทำให้คนเราขาดสติ หันไปยึดติดกับสิ่งของที่ไม่จีรัง ซึ่งไม่มีผู้ใดสามารถนำติดตัวไปได้เมื่อความตายมาพรากเราไปจากมัน
ชาวสเปนจึงมีภาษิตเตือนใจบทหนึ่งว่า
“ไม่มีกระเป๋าที่ผ้าตราสัง” !
ผู้ที่สะสมทรัพย์สมบัติราวกับว่าจะขนไปใช้ได้ชั่วนิรันดรในโลกหน้า จึง “โง่” จริง ๆ !
ที่สุด พระองค์ทรงสรุปว่า
“คนที่สะสมทรัพย์สมบัติไว้สำหรับตนเอง แต่ไม่เป็นคนมั่งมีสำหรับพระเจ้า ก็จะเป็นเช่นนี้”
(ลก 12:21)
เศรษฐีโง่สะสมทรัพย์สมบัติไว้เพื่อใช้เอง และใช้อย่างเห็นแก่ตัวด้วย นั่นคือ “พักผ่อน กินดื่ม และสนุกสนาน”
ทุกวันนี้ ผู้คนจำนวนมากก็ประพฤติไม่ต่างไปจากเศรษฐีโง่คนนี้ พวกเขาพยายามทำงานหนักเพื่อจะมีรายได้เพิ่มขึ้น
จะได้มีชีวิตความเป็นอยู่ฟุ่มเฟือยขึ้น มีมือถือรุ่นใหม่ รถยนต์คันใหม่ บ้านหลังใหม่ ฯลฯ
แต่น่าเสียดายที่คนเหล่านี้
“ไม่เป็นคนมั่งมีสำหรับพระเจ้า” !!
ตรงกันข้าม หากเราใช้เงินทองหรือทรัพย์สมบัติอย่าง “พอเพียง” คือไม่ต้องไปพึ่งพาผู้อื่น แล้ว “ให้” ส่วนที่เหลือแก่ผู้ที่มีความจำเป็นและขัดสนมากกว่าเรา…
การ “ใช้” ทรัพย์สมบัติอย่างนี้ คือ การ “สะสม” ทรัพย์สมบัติเที่ยงแท้ในสวรรค์ และทำให้เราเป็น “ผู้มั่งมี” ในสายพระเนตรของพระเจ้า
และเพื่อจะเป็นผู้มั่งมีในสวรรค์ ไม่จำเป็นต้องลงทุนมากมายเลย แค่น้ำเย็นสักแก้ว หรือ ไปเยี่ยมเยียนผู้สูงอายุ คนตาบอด เด็กกำพร้า เท่านี้เราก็ได้ทำต่อพระเยซูเจ้าเองแล้ว
นักบุญเปาโลระลึกถึงคำสอนประการนี้อยู่เสมอ ท่านจึงกล่าวว่า
“การให้ย่อมเป็นสุขมากกว่าการรับ”
(กจ 20:35)
เราอยากจะมั่งมีในโลกนี้แล้วยากจนในโลกหน้า
หรือ อยากจะสุขทั้งในโลกนี้และโลกหน้า ก็เลือกเอาเอง !!