• ลก 17:5-10 •
5บรรดาอัครสาวกทูลองค์พระผู้เป็นเจ้าว่า “โปรดเพิ่มความเชื่อให้พวกเราเถิด” 6องค์พระผู้เป็นเจ้าจึงตรัสว่า “ถ้าท่านมีความเชื่อเท่าเมล็ดมัสตาร์ด และพูดกับต้นหม่อนต้นนี้ว่า ‘จงถอนรากแล้วไปขึ้นอยู่ในทะเลเถิด’ ต้นหม่อนต้นนั้นก็จะเชื่อฟังท่าน
7ท่านผู้ใดที่มีคนรับใช้ออกไปไถนา หรือไปเลี้ยงแกะ เมื่อคนรับใช้กลับจากทุ่งนา ผู้นั้นจะพูดกับคนรับใช้หรือว่า ‘เร็วเข้า มานั่งโต๊ะเถิด’ 8แต่จะพูดมิใช่หรือว่า ‘จงเตรียมอาหารมาให้ฉันเถิด จงคาดสะเอว คอยรับใช้ฉันขณะที่ฉันกินและดื่ม หลังจากนั้นเจ้าจึงกินและดื่ม’ 9นายย่อมไม่ขอบใจผู้รับใช้ที่ปฏิบัติตามคำสั่งมิใช่หรือ 10ท่านทั้งหลายก็เช่นเดียวกัน เมื่อท่านได้ทำตามคำสั่งทุกประการแล้ว จงพูดว่า ‘ฉันเป็นผู้รับใช้ที่ไร้ประโยชน์ เพราะฉันทำตามหน้าที่ที่ต้องทำเท่านั้น’”
พระวรสารตอนนี้บอกความจริงแก่เรา 2 ประการ
ประการแรกเกี่ยวกับ “พลังของความเชื่อ”
พระเยซูเจ้าตรัสว่า “ถ้าท่านมีความเชื่อเท่าเมล็ดมัสตาร์ด และพูดกับต้นหม่อนต้นนี้ว่า ‘จงถอนรากแล้วไปขึ้นอยู่ในทะเลเถิด’ ต้นหม่อนต้นนั้นก็จะเชื่อฟังท่าน” (ลก 17:6)
เมล็ดมัสตาร์ดมีขนาดเล็กที่สุดในบรรดาพันธุ์ไม้ที่มีอยู่ในพระคัมภีร์ ส่วนต้นหม่อนเป็นไม้ยืนต้นจำพวกไม้พุ่ม ลำต้นใหญ่ มีกิ่งก้านมาก ใบใช้เลี้ยงตัวไหม
หากนำเมล็ดมัสตาร์ดกับต้นหม่อนมาเทียบขนาดกัน คงเหมือนเอาเรือบดไปจอดเทียบกับเรือรบ
อย่างไรก็ตาม พระองค์ทรงเลือกใช้พันธุ์ไม้สองชนิดซึ่งไม่น่าจะเทียบเคียงกันได้ เพื่อขับเน้น “พลังของความเชื่อ” ให้เห็นเด่นชัด
ลำพังความเชื่อเพียงน้อยนิดเท่าเมล็ดมัสตาร์ด ก็สามารถเคลื่อนต้นหม่อนซึ่งใหญ่โตกว่ามากให้ไปขึ้นอยู่ในทะเลได้
อนึ่ง การเคลื่อนต้นหม่อนให้ไปขึ้นในทะเล เป็นสำนวนโวหารของชาวยิวและชาวตะวันออกซึ่งนิยมพูดและเขียนให้เห็นจริงเห็นจังมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
คนไทยเองก็นิยมพูดทำนองนี้เหมือนกัน เช่น หน้าบานเป็นกระด้ง คอแห้งเป็นผง ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ งมเข็มในมหาสมุทร จับเสือมือเปล่า หนังเหนียวยิงฟันไม่เข้า หรือแม้แต่สโลแกน “รักคุณเท่าฟ้า” ของสายการบินแห่งหนึ่งก็เข้าข่ายนี้เช่นกัน
เพราะฉะนั้น ในกรณีนี้เราจึงไม่จำเป็นต้องเข้าใจสิ่งที่พระองค์ตรัสตามตัวอักษร แล้วด่วนสรุปว่า เมื่อเชื่อและรับศีลล้างบาปแล้ว เราจะสามารถสั่งต้นหม่อนให้ไปขึ้นในทะเลได้
เพราะประเด็นสำคัญที่พระองค์ต้องการสอนเราก็คือ สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ย่อมเป็นไปได้เสมอหากเรา “เชื่อ” ว่าเป็นไปได้
แม้ความเชื่อนั้นจะน้อยนิดเท่าเมล็ดมัสตาร์ดก็ตาม !
หากเรา “ไม่เชื่อ” ว่ามนุษย์จะมีทางบินได้ ไปดวงจันทร์ได้ ผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจหรือไตได้ แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้ย่อมไม่มีทางเป็นไปได้ และจะไม่มีวันเกิดขึ้น !
ตรงกันข้าม ถ้าเรา “เชื่อ” ว่าเราสามารถอบรมเลี้ยงดูบุตรหลานของเราให้เป็นคนดี ทำให้สังคมของเราปลอดจากยาเสพติด การฉ้อราษฎร์บังหลวง การล่วงละเมิดทางเพศ หรือทำให้สังคมของเราเป็นพระอาณาจักรของพระเจ้าและตัวเราเป็นสมาชิกที่ดีของสังคมได้
แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้ย่อมเป็นไปได้ และจะเกิดขึ้นจริงสักวันหนึ่ง !
ที่ดีเลิศไปกว่านี้ก็คือ เราคริสตชนไม่เพียงเชื่อมั่นในตัวเองเท่านั้น แต่ยัง “เชื่อมั่น” ในพระเยซูเจ้าด้วย เราจึงไม่ถูกปล่อยให้เผชิญหน้ากับสิ่งท้าทายต่าง ๆ ตามลำพัง… เพราะเรามีพระเยซูเจ้าผู้ทรงสรรพานุภาพอยู่เคียงข้างและพร้อมจะช่วยเหลือเราเสมอ
นี่คือพลังอันยิ่งใหญ่ของความเชื่อ !
ประการที่สอง เราจะทวงบุญคุณจากพระเจ้าไม่ได้
ทุกครั้งที่ทำความดีหรือประกอบกิจการอันเป็นบุญกุศล เราจะถือเอาพระเจ้าเป็น “ลูกหนี้” ของเรา หรือจะเรียกร้องสิทธิใด ๆ จากพระองค์ไม่ได้เป็นอันขาด
ดุจเดียวกับคนใช้ที่กลับจากทุ่งนาหลังเลิกงาน ย่อมไม่อาจเรียกนายเป็นลูกหนี้ได้ อีกทั้งไม่อาจเรียกร้องสิทธิที่จะกินอาหารร่วมโต๊ะกับนายได้ และนายก็ไม่จำเป็นต้องขอบใจเขาด้วย
เพราะ “คนใช้” ในกรณีนี้ตรงกับคำกรีก doulos (ดูลอส) ซึ่งแปลว่า “ทาส” และตามกฎหมาย ทาสมีสถานภาพเทียบเท่าสมบัติชิ้นหนึ่งของนาย จึงต้องเป็นของนาย โดยนาย และเพื่อนาย ยี่สิบสี่ชั่วโมงต่อวัน และเจ็ดวันต่อสัปดาห์
นั่นคือ ทาสต้องรับใช้นายทุกลมหายใจ
“นาย” จึงมีสถานภาพเหนือ “ทาส” ชนิดไม่อาจเปรียบเทียบกันได้เลย
ทุกสิ่งที่ทาสกระทำเป็นเพียงการปฏิบัติตาม “หน้าที่” ซึ่งไม่อาจเรียกร้องค่าตอบแทนหรือบุญคุณใด ๆ จากนายได้เลย จริงอยู่ที่ทุกวันนี้การใช้แรงงานทาสเป็นสิ่งน่ารังเกียจและผิดกฎหมาย เพราะคนงานทุกคนย่อมมีสิทธิได้รับค่าจ้างตามความยุติธรรม ดังที่พระเยซูเจ้าตรัสว่า “คนงานสมควรที่จะได้รับค่าจ้างของตน” (ลก 10:7)
แต่เราจะเรียกร้องค่าจ้างจากพระเจ้าไม่ได้ !
เพราะธรรมชาติของพระเจ้านั้นแตกต่างจากมนุษย์ชนิดไม่อาจเทียบเคียงกันเหมือนกรณีของนายกับทาสได้เลย
พระองค์ทรงเป็นผู้สร้างมนุษย์ แต่ “นาย” เป็นเพียงมนุษย์ผู้ซื้อมนุษย์มาเป็น “ทาส” !
อย่างไรก็ตาม แม้เราจะเรียกร้องค่าจ้างหรือทวงบุญคุณจากพระเจ้าไม่ได้ ก็มิได้หมายความว่าชีวิตของเราจะสิ้นหวัง เพราะพระเจ้าทรงเป็น “บิดาผู้ใจดี” และเปี่ยมด้วย “ความรัก” ที่พร้อมจะประทานทุกสิ่งแก่เราอยู่แล้ว !
พระองค์จึงสมควรได้รับ “ความรัก” และ “ความนบนอบเชื่อฟัง” จากเรามนุษย์เป็นการตอบแทน
เป็น “ความรัก” ที่ไม่ทำให้เรานั่งนับวันและชั่วโมงเพื่อคิดค่าแรงตามกฎหมาย แต่ทำให้เราทุ่มเทชีวิตและจิตใจทำทุกสิ่งเพื่อพระองค์ผู้ทรงเป็นที่รัก โดยไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อยหรืออามิสสินจ้างใด ๆ
หรือว่าหัวใจของเรา “ขาดรัก” ไปเสียแล้ว ?!